การประเมินผลการพัฒนางานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกสู่ตลาดของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จจังหวัดเชียงใหม่ สู่ความเป็นเลิศ โดยประยุกต์ใช้แนวทางของศาสตร์พระราชา

ผู้แต่ง

  • จันทนา วิสุทธิกุล
  • ประวิทย์ สุวรรณ
  • นันทณา วงศ์พรหม
  • วรรณพร ทิพปภาดิลก

คำสำคัญ:

ความเป็นเลิศ, การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกสู่ตลาด, ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ, ศาสตร์พระราชา

บทคัดย่อ

ความสำคัญ จากผลการดำเนินงานของการให้บริการงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกสู่ตลาดของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการของหน่วยงาน จึงได้นำแนวทางศาสตร์ของพระราชามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของการให้บริการ

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการพัฒนาความเป็นเลิศในการให้บริการงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกสู่ตลาดของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ จังหวัดเชียงใหม่ ตามแนวทางของศาสตร์พระราชา

วิธีการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงประเมินผลลัพธ์หลังสิ้นสุดการพัฒนางานตามแนวทางแห่งศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2563 เกณฑ์การประเมินความเป็นเลิศได้แก่ (1) เกณฑ์ประสิทธิภาพของการให้บริการกระบวนงานอนุญาตโดยเทียบระยะเวลาให้บริการแล้วเสร็จกับระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศไว้ในคู่มือประชาชน และจำนวนสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงมากกว่าร้อยละ 90 (2) เกณฑ์คุณภาพของบริการวัดจากคะแนนเฉลี่ยของผู้รับบริการที่ประเมินด้วยแบบสอบถามความพึงพอใจต้องมากกว่าร้อยละ 85 และร้อยละ 100 ของการอนุญาตมีความครบถ้วนถูกต้องตามกระบวนการมาตรฐาน (3) ความมีธรรมาภิบาล และ (4) การเป็นที่ยอมรับขององค์กรภายนอก

ผลการศึกษา: หลังการพัฒนาพบว่าสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ปฏิบัติการลงได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีกระบวนงานใดใช้เวลานานกว่าเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศไว้ในคู่มือประชาชน พบว่าร้อยละ 98 ของสถานประกอบการตรวจผ่านตามเกณฑ์การออกใบอนุญาตโดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข 3 กระบวนงานอนุญาตหลักที่ดำเนินการแล้วเสร็จได้รวดเร็วมากที่สุด ได้แก่  (1) งานขออนุญาตและแก้ไขรายการผลิตภัณฑ์อาหารประเภท ไอศกรีม เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี เครื่องดื่มเกลือแร่ และกาแฟปรุงสำเร็จ (2) งานขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหารและสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (กรณีไม่มีการปรับปรุงสถานที่) และ (3) งานขออนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน มีระยะเวลาปฏิบัติการรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน, 14 วัน และ 7 วัน ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 10.7, 24.1 และ 70 ของระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศไว้ตามลำดับ ตัวชี้วัดความเป็นเลิศด้านคุณภาพการให้บริการวัดได้จากคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยของผู้รับบริการจำนวน 1,042 คนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และการอนุญาตมีความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารและมีมาตรฐานตรงตามที่กำหนดร้อยละ 100 ความมีธรรมาภิบาลขององค์กรเห็นได้จากการประกาศใช้คู่มือบริการประชาชนของศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จจังหวัดเชียงใหม่เพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงานรวมทั้งไม่มีเรื่องร้องเรียนหรือคดีความเกี่ยวกับการทุจริต สำหรับตัวชี้วัดการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกยืนยันได้จากการขอมาศึกษาดูงานของ 14 หน่วยงานภายนอก

สรุป การนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ทำให้งานขออนุญาตของงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกสู่ตลาดของศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ จังหวัดเชียงใหม่ สามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในทุกมิติ หน่วยงานอื่นสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ตามบริบทของหน่วยงานได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-05-02