การประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์และพืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้แต่ง

  • ชยพล สินวรณ์ -

คำสำคัญ:

กัญชาทางการแพทย์และพืชเศรษฐกิจ, ต้นน้ำ, กลางน้ำ, ปลายน้ำ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาติดตามประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์และพืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ศึกษาความคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานและนำผลการศึกษามาพัฒนาแนวทางปรับปรุงกระบวนการในการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์และพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการสนทนากลุ่มแบบเจาะจง (Focus Group Discussion) กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารจังหวัดที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการนำภารกิจของรัฐและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติ ผู้นำชุมชน ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจ เครือข่าย บุคลากรผู้ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ (ทีมสหวิชาชีพ) ผู้รับบริการ/ผู้ป่วยจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ จำนวน 19 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพื้นฐานหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์โดยจำแนกเปรียบเทียบข้อมูลเรียงตามลำดับความถี่ สรุปผลและเสนอในรูปของความเรียง รวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่       1 ธันวาคม 2564 ถึง มิถุนายน 2565

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 19 คน ส่วนใหญ่เป็นชาย ร้อยละ 73.7 อายุ 25 - 35 ปี ร้อยละ 31.5 วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 57.9 อาชีพรับราชการ ร้อยละ 78.9 เป็นบุคลากรผู้ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ร้อยละ 57.9 ผลลัพธ์ในการดำเนินงานต้นน้ำ ข้อมูลสารสนเทศ ระยะเวลาและกระบวนการในการพิจารณาการอนุญาตผลิต (ปลูก) ข้อกำหนดภายใต้กฎหมายเดิม การเตรียมสถานที่ปลูกกัญชาต้องใช้ต้นทุนสูงส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสการเข้าถึงการปลูกกัญชาได้น้อย การประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 หลังจากประกาศ                  ราชกิจจานุเบกษา นับไป 120 วัน จะมีผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้อย่างเสรี การดำเนินงานกลางน้ำ โรงงานผลิตยาสมุนไพร โรงพยาบาลพนา มีความพร้อมในการผลิตกัญชาทางการแพทย์เพื่อให้สถานบริการสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 10 การบริหารจัดการโซ่อุปทาน supply chain ที่มีประสิทธิภาพ การวิจัย และการพัฒนาสูตรตำรับจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประชาชนในเขตพื้นที่ได้ การดำเนินงานปลายน้ำ (คลินิกกัญชาทางการแพทย์) สิทธิในการเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์มีความครอบคลุมแต่การเข้าถึงบริการยังมีข้อจำกัด เนื่องจากตํารับยากัญชาสำหรับใช้ในโรงพยาบาลมีจำกัดและเกณฑ์ที่ไม่รับผู้ป่วยการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ได้ (Exclusion criteria) ตามข้อบ่งชี้ของการใช้กัญชาโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ ความคิดเห็นในการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คาดหวังการเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ในมิติทางการแพทย์เพื่อการรักษามากกว่ามิติด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายด้านการเมือง ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานเกิดจากกฎหมายจากนโยบายที่ยังไม่เปิดกว้าง จำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายกัญชาทางการแพทย์ ประชาชนไม่สามารถดำเนินการปลูกกัญชาได้อย่างเสรี ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกันกับภาคส่วนอื่น การให้ข้อมูลยังไม่ครอบคลุมทุกมิติ ด้านความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยหรือประชาชนในการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ การขอแบ่งใช้กัญชาระหว่างคนไข้หรือใช้กัญชาที่มีแหล่งที่มานอกระบบที่ผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพในการรักษา ปัญหาเชิงระบบในการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาที่แตกต่างกัน ไม่ใช้กลไกการตลาด การผูกขาดจากการเลือกซื้อสินค้าที่สามารถคืนหรือแลกเปลี่ยนได้ เกิดส่วนแบ่งการตลาดที่ไม่เท่าเทียม ส่วนแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ ควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการและข้อมูลที่สามารถให้บริการร่วมกันโดยมีบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพิ่มการเข้าถึงบริการโดยการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบผสมผสานทั้งกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย และส่งเสริมให้มีการใช้กัญชาแผนไทย การสร้างความเข้าใจถึงการสั่งจ่ายกัญชาให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิกกัญชา คัดกรองบุคลากรที่มีองค์ความรู้ มีทัศนคติ มีความพร้อมที่จะสั่งใช้กัญชาและควรผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การอบรมสร้างความรู้กัญชาทางการแพทย์ให้แก่ประชาชน โดยผ่าน อสม./ผู้นำชุมชน และการลงพื้นที่สัญจรเพื่อประชาสัมพันธ์แก่ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการ           การรักษาด้วยยากัญชาหรือตำรับกัญชาแผนไทย พร้อมทั้งการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จากกลุ่มที่ต้องการรักษาในเชิงของการประคับประคอง หรือ Palliative Care กลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องใช้ยากลุ่มนี้ ข้อมูลผู้ป่วยที่มีการเชื่อมต่อในระบบรายงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการบันทึกรายงาน และการส่งข้อมูลจากระบบมาวิเคราะห์และพัฒนางานการติดตามความปลอดภัยจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ป่วยในการใช้ยา สร้างความเชื่อมั่นต่อบุคลากรทางการแพทย์ ควบคุมการนำกัญชาไปใช้ต้องมาจากผู้รับอนุญาตที่ถูกกฎหมายเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา      ที่มีสารปนเปื้อนหรือสารพิษตกค้างที่เกิดจากกระบวนการผลิตและแปรรูป การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เพื่อวางกรอบการดำเนินงานและสร้างแผนที่นำทาง (Roadmap) ในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาให้มีประสิทธิภาพ จากการถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา การกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ที่ใช้กลไกการตลาด  ลดการผูกขาดจากการเลือกซื้อสินค้าที่สามารถคืนหรือแลกเปลี่ยนได้ เพิ่มโอกาสการถูกเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และส่วนแบ่งการตลาดที่เท่าเทียม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-11-09