ความสัมพันธ์ของปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีการควบคุมการสั่งใช้กับความไวของเชื้อดื้อยาต่อยาต้านจุลชีพในแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลกันทรลักษ์

ผู้แต่ง

  • ประภา พิทักษา -
  • พรรษชล โสดาจันทร์

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณและแนวโน้มของการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะที่มีมาตรการควบคุมการสั่งใช้ และศึกษาความสัมพันธ์ของปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีการควบคุมการสั่งใช้กับความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ โดยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังที่ทำการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะ 6 รายการ ที่มีการควบคุมการสั่งใช้ และข้อมูลการรายงานผลการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อแบคทีเรีย 8 ชนิด (Antibiogram) จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลกันทรลักษ์ ในระหว่างปีพ.ศ. 2562-2565 โดยคำนวณปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในหน่วย DDD/100 วันนอน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปริมาณการใช้ยาและความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อแบคทีเรียโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า ภาพรวมปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีมาตรการควบคุมการสั่งใช้มีแนวโน้มลดลง โดยยาที่มีปริมาณการสั่งใช้มากที่สุดคือ Meropenem รองลงมาคือ Piperacillin/tazobactam และ Colistin มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 11.44, 6.66 และ 2.02 DDD/1000 วันนอน ตามลำดับ โดยยาปฏิชีวนะที่ปริมาณการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยา Piperacillin/tazobactam Imipenem/cilastatin และ Cefoperazone/sulbactam ส่วนยาที่มีแนวโน้มของปริมาณการใช้ลดลง ได้แก่ Meropenem Vancomycin  และ Colistin ปี 2565 พบว่าปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีมาตรการควบคุมการสั่งใช้ มีแนวโน้มลดลงเกือบทุกรายการ ยกเว้นยา Imipenem/cilastatin ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ยาที่มีแนวโน้มในทิศทางตรงกันข้ามกับความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ ได้แก่ ยา Piperacillin/tazobactam ที่มีแนวโน้มการใช้สูงขึ้น แต่ความไวของเชื้อ P. aeruginosa  (MDR), K. pneumoniae (ESBL) และ E. coli (ESBL)  ต่อยามีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับยา Imipenem และยา Cefoperazone/sulbactam ที่มีแนวโน้มการใช้สูงขึ้น แต่ความไวของเชื้อ A. baumannii (MDR), P. aeruginosa  (MDR) และ E. coli (ESBL) ต่อยามีแนวโน้มลดลง ซึ่งความสัมพันธ์ของปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีการควบคุมการสั่งใช้กับความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม แสดงให้เห็นว่าปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มสูงขึ้น แต่เชื้อจุลชีพมีความไวต่อยาลดลง ดังนั้นการเพิ่มความเข้มแข็งของมาตรการ Antimicrobial stewardship จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของ สหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการใช้ยาให้สมเหตุผล และลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-10