การศึกษารูปแบบการพัฒนาสถานที่จำหน่ายเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย อย่างมีส่วนร่วมในจังหวัดพัทลุง

ผู้แต่ง

  • พรชนก เจนศิริศักดิ์ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบในการพัฒนาสถานที่จำหน่ายเครื่องสำอางในจังหวัดพัทลุง เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมผสมผสานกับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างสำหรับประเมินรูปแบบและเครื่องมือ คือ ผู้จำหน่าย ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และพนักงานเจ้าหน้าที่ รวม 40 คน คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง วัดความรู้ ประเมินร้านจำหน่าย เปรียบเทียบความรู้ และสถานการณ์ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางก่อนและหลังการอบรม สร้างรูปแบบและเครื่องมือด้วยการสนทนากลุ่มร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก นำเครื่องมือไปใช้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน Paired  t-test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คะแนนเฉลี่ยจากเดิม 15.80 ± 3.729 เป็น 16.92 ± 1.803 (คะแนนเต็ม 20) ได้รูปแบบการพัฒนาประกอบด้วย 1. การประชาสัมพันธ์ 2. การสร้างช่องทางสื่อสาร 3. การพัฒนาร้านจำหน่ายโดยใช้แบบประเมินตนเอง 4. การตรวจติดตาม 5. การบังคับใช้กฎหมาย 6. การอบรมให้ความรู้ 7. การเชิดชู ส่งเสริม และได้เครื่องมือประเมินตนเอง การประเมินร้าน 12 แห่ง พบว่ามีร้านที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จาก 3 แห่ง เป็น 6 แห่ง (เพิ่มขึ้น 50%) จำหน่ายเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้ จาก 7 แห่ง เป็น 3 แห่ง (ลดลง 57.14%) จำหน่ายเครื่องสำอางฉลากไม่ถูกต้อง จาก 8 แห่ง เป็น 5 แห่ง (ลดลง 37.5%) จำหน่ายยาหรืออาหารเสริมผิดกฎหมาย จาก 5 แห่ง เป็น 0 แห่ง (ลดลง 100%) ดังนั้น การใช้รูปแบบการพัฒนาและเครื่องมือจากการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการยอมรับ จะสามารถพัฒนาร้านจำหน่ายเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

คำสำคัญ: ร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง, รูปแบบการพัฒนาร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง, การวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม

References

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558. (2558, สิงหาคม 10) ราชกิจจานุเบกษา, 132 (85ก)

พรชนัน สุขเจริญชัยกิจ. การเลือกเครื่องสำอางทาฝ้า ทำให้หน้าขาวของวัยรุ่นกรณีศึกษา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี [วิทยานิพนธ์ปริญญาเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต]. นครปฐม:มหาวิทยาลัยศิลปากร; 2552.

นันทนา กลิ่นสุนทร. สารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทาสิว ทาฝ้าทำให้หน้าขาวในเขตภาคกลางตอนล่างระหว่างปี 2553 – 2556. วารสารอาหารและยา 2556; 20(3):28-36.

เอกชัย เยาว์เฉื้อง. นโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน 2559; 11(ฉบับพิเศษ):157-70.

สัญญา ยือราน, ศิวิไลซ์ วนรัตน์วิจิตร. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสำเร็จการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระบบสุขภาพ. วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้ 2561; 5(2):288-300.

สุมาลัย วรรณกิจไพศาล. การพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพผู้สุงอายุแบบมีส่วนร่วม เทศบาลเมืองปากช่อง. วารสารวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา 2559; 3(2):90-104.

คมสรรค์ ชื่นรัมย์. การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพตนเองในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินของ รพ.สุคิริน ด้วยเทคนิคการวางแผนแบบมีส่วนร่วม AIC [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. ยะลา:มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา; 2559.

วาณี ธนสีลังกูล. การจัดการปัญหาเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารห้ามใช้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน: กรณีศึกษาของตำบลดอนกลอย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี. วารสารเภสัชกรรมไทย 2560; 10(1):60-8.

ภาณุโชติ ทองยัง. การพัฒนาสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ในจังหวัดสมุทรสงครามสู่มาตรฐาน GPP อย่างมีส่วนร่วม. วารสารอาหารและยา 2561: 25(2):39-48.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-29

ฉบับ

บท

บทความวิจัย Research Article