การสอบสวนโรคเฉพาะรายกรณีผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเจอี: กรณีศึกษา ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

ผู้แต่ง

  • ชุติกาญจน์ ถาวรเจริญ โรงพยาบาลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
  • ศุภร น้อยใจบุญ โรงพยาบาลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
  • ธนวัฒน์ ศรีศักดิ์เจริญ โรงพยาบาลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
  • พันธะกานต์ ยืนยง โรงพยาบาลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

คำสำคัญ:

การสอบสวนโรค, โรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE), ฉะเชิงเทรา

บทคัดย่อ

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 งานควบคุมโรค โรงพยาบาลบางคล้า ได้รับรายงานจากศูนย์ระบาดวิทยาโรคติดต่อ จังหวัดฉะเชิงเทรา พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE) จำนวน 1 ราย ตรวจพบและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทีมสอบสวนโรค โรงพยาบาลบางคล้า จึงลงพื้นที่สอบสวนโรค ระหว่างวันที่ 11 – 17 สิงหาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค 2) เพื่อศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยาของโรคตามบุคคล เวลา สถานที่ 3) เพื่อค้นหาแหล่งโรค วิธีการถ่ายทอดโรคและผู้สัมผัสโรค 4) เพื่อหามาตรการในการป้องกัน ควบคุมโรค การศึกษานี้เป็นการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาโดยใช้แบบสอบสวนเฉพาะรายโรคไข้สมองอักเสบ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาจากแฟ้มบันทึกรายงานการรักษาของผู้ป่วย และการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง              

ผลการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 3 ปี 7 เดือน สัญชาติไทย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (JE) เมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2566 เริ่มมีอาการไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก คลื่นไส้ อาเจียนเป็นน้ำ 2 ครั้ง ถ่ายเหลว 1 ครั้ง และรับประทานอาหารได้น้อยลง เข้ารับการรักษาที่คลินิกในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 มีอาการไข้ กระสับกระส่าย ซึม หลับ ไม่พูดคุย จึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคาม และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธโสธร และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามลำดับ ผลตรวจห้องปฏิบัติการ พบว่า Anti-Japanese Encephalitis IgM 65 unit (ค่าปกติ 0-39 unit) Anti-Dengue IgM 6 unit (ค่าปกติ 0-39 unit) Anti-Dengue IgG 9 unit (ค่าปกติ 0-99 unit) ผลการสำรวจสิ่งแวดล้อมลักษณะบ้าน หน้าต่างมีมุ้งลวด แต่ประตูไม่มีมุ้งลวด นอนไม่กางมุ้ง บริเวณรอบบ้านมีขยะจำนวนมาก เป็นทุ่งนาที่อยู่ระหว่างเตรียมปลูกและมีน้ำขัง ข้อเสนอแนะในการป้องกันควบคุมโรคครั้งนี้ ควรมีการดำเนินการให้ภูมิคุ้มกันโรคเชิงรุก โดยการสำรวจเด็กกลุ่มเป้าหมาย ที่พักอาศัยในพื้นที่และติดตามการให้วัคซีนให้ครอบคลุม และรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรำคาญตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้สะอาด อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

References

ศูนย์สมองและประสาท โรงพยาบาลเพชรเวช. มีไข้สูง ปวดศีรษะ สัญญาณอันตรายของโรคไข้สมองอักเสบ [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ14 ส.ค.2566] เข้าถึงได้จาก www.petcharavejhospital.com/th/ Article/article_detail/Encephalitis_JE.

วินัย รัตนสุวรรณ.โรคไข้สมองอักเสบ [อินเทอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ18 ส.ค.2566] เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/preventive/article_detail.asp?id=2

โรงพยาบาลพิษณุเวช. การรับวัคซีนสำหรับลูกน้อย [อินเทอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 18 ส.ค.2566] เข้าถึงได้จาก https://www.pitsanuvej.com/articles/vaccine-table

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา. รายงานประจำปี สถานการณ์โรคที่เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา. นครราชสีมา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรค; 2565

กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.ฉะเชิงเทรา.รายงานผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2565. ฉะเชิงเทรา : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด; 2565

กองระบาดวิทยา. นิยามโรคและแนวทางการรายงานโรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย. นนทบุรี. แคนนา กราฟฟิค; 2563

กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค. กำหนดการให้วัคซีน ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข.นนทบุรี; 2566

Downloads

เผยแพร่แล้ว

26-12-2023