Nursing care End Stage Renal Disease of Anesthesia for Kidney transplantation : cases series

Authors

  • ศุภดีวัน พิทักษ์แทน Suratthani Hospital

Abstract

  โรคไตวายเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลกซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ในทุกประเทศ มีแนวโน้มต่อผลในการรักษาที่เลวลง และสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันโรคไตเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 12 และทำให้เกิดภาวะพิการหรือทุพพลภาพอันดับที่ 17 สำหรับในประเทศไทยในแต่ละปีมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2561 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำนวน 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End Stage Renal Disease) มากกว่าแสนคนและมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 - 20 ต่อปี ประมาณการผู้ป่วย
ไตวายเรื้อรังในปี 2564 จะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบเพิ่มเป็น 59,209 ราย12 โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End Stage Renal Disease) มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของไตลดลงมากที่สุด อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ตารางเมตร ซึ่งสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเกิดจากกรวยไตและหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงไตตีบแคบและแข็งตัวมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ เซลล์ไตขาดเลือดและถูกทำลาย อัตราการกรองของไตลดลงจนไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ มีพยาธิสภาพที่เนื้อไต เกิดการคั่งค้างของของเสียจำนวนมากซึ่งมีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไตซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่ 1) การล้างไตทางหน้าท้อง (Peritoneal dialysis : PD) เป็นการล้างไตโดยอาศัยหลักการแพร่ และออสโมซิส โดยการใส่นํ้ายาล้างไตเข้าไปในช่องท้องเป็นระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนดเพื่อให้ของเสียและนํ้าส่วนเกินในเลือดเข้ามาอยู่ในนํ้ายาที่เข้าไป แต่มีข้อเสียที่ไม่สามารถลดปริมาณนํ้าส่วนเกินและไม่สามารถปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่างได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งสูญเสียโปรตีนทางนํ้ายาฟอกเลือดมาก 2) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis : HD) เป็นการนำเลือดผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งนํ้า และเกลือแร่ผิดปกตินำเข้าสู่ตัวกรองไตเทียมผ่านกระบวนการกรองโดยอาศัยหลักการแพร่และการนำเพื่อกำจัดของเสียและนํ้าส่วนเกิน รวมทั้งปรับสมดุลของเกลือแร่ของเลือดแล้วนำกลับเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาการทำครั้งละ 4 - 5 ชั่วโมง ทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ข้อเสีย คือ ต้องจำกัดนํ้าเพื่อป้องกันภาวะนํ้าเกิน (volume overload) และการรับประทานที่ทำให้โปตัสเซียมในเลือดสูงผู้ป่วยต้องมารับการฟอกเลือดอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง 3) การผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต (kidney transplantation : KT) เป็นการรักษาโดยการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาค (donor) ไปยังผู้ป่วยหรือผู้รับไต (recipient) ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนไตถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการบำบัดทดแทนไต ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลในระยะยาว
ผู้ป่วยจะมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ จากรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2561 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต จำนวน 57,288 คน ปี 2560 มีจำนวน 53,266 คน หรือเพิ่มขึ้น 4,022 คนเป็นผู้ป่วยรับบริการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อ่เนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis : CAPD) จำนวน 30,024 คน รับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis : HD) จำนวน 24,858 คน มีการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วย จำนวน 709 ราย โดยเป็นผู้รับไตจากผู้บริจาคมีชีวิต (living donor) จำนวน 165 ราย และเป็นผู้รับไตจากผู้บริจาคสมองตาย (deceased donor) จำนวน 544 ราย13 ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีผลสำเร็จสูงสุดเมื่อเทียบกับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นภายในร่างกาย ในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้บริจาคและผู้รับบริจาคไตต้องได้รับยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายสำหรับการผ่าตัดการให้ยาระงับความรู้สึกผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งเป็นผู้รับไตที่มารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคนั้น มีความยุ่งยากซับซ้อน วิสัญญีพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญของทีมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยเพราะต้องมีความรู้ความเข้าใจในทุกขั้นตอนของการรักษา
และการผ่าตัด นับตั้งแต่การเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ต้องมีการตรวจเยี่ยมดูแลความพร้อมด้านร่างกายให้ผู้ป่วยมีภาวะสมดุลของสารนํ้าและอิเลคโตรไลท์ เพื่อป้องกันภาวะนํ้าเกินและระดับโปตัสเซียมในเลือดสูง ให้ความรู้และคำแนะนำผู้ป่วยโดยอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องการปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด ให้กำลังใจ ให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่อการปลูกถ่ายไต มีจิตใจที่เข้มแข็ง มุ่งมั่นที่จะรับการปลูกถ่ายไตเพื่อที่จะได้มาซึ่งชีวิตและสุขภาพที่สุขสบายหลังการปลูกถ่ายไต เตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะยอมรับเมื่อมีภาวะแทรกซ้อน หรือแม้แต่การล้มเหลวของการปลูกถ่ายไต การพยาบาลระยะผ่าตัดเฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด เช่นดูแลการให้สารนํ้าปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้ไตใหม่ที่ปลูกถ่ายสามารถผลิตปัสสาวะได้อย่างเต็มที่ การเฝ้าระวังป้องกันปอดบวมนํ้าจากภาวะนํ้าเกินเนื่องจากไตไม่สามารถขับนํ้าออกจากระบบไหลเวียนได้ การดูแลหลอดเลือดเพื่อการฟอกเลือดของผู้ป่วยเพื่อเตรียมพร้อมในกรณีผู้ป่วยมีภาวะโปตัสเซียมสูงมากร่วมกับหัวใจเต้นผิดจังหวะ การพยาบาลหลังผ่าตัดติดตามสัญญาณชีพ การให้สารนํ้า ยาตามแผนการรักษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การบันทึกจำนวนปัสสาวะ การ
ดูแลให้ผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวด ให้อยู่ในห้องที่เงียบสงบ สะอาดปลอดเชื้อเพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อและสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการจัดทำเอกสารเล่มนี้ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ให้แก่วิสัญญีพยาบาลที่ทำการดูแลผู้ป่วยที่มารับยาระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดปลูกถ่ายไตทั้งที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและโรงพยาบาลอื่น ซึ่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายไตของภาคใต้ตอนบนและได้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 จนกระทั่งถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 รวมทั้งหมดจำนวน16 ราย โดยเป็นผู้รับไตจากผู้บริจาคมีชีวิตทั้งหมด ผู้เขียนในฐานะที่เป็นวิสัญญีพยาบาลซึ่งได้ปฏิบัติงานในทีมผ่าตัด มีโอกาสให้การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจึงได้ทำการศึกษาผู้ป่วย 2 รายเพื่อเผยแพร่ความรู้กรณีศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแก่วิสัญญีพยาบาลและพยาบาลวิชาชีพ อาจารย์พยาบาลและนักศึกษาพยาบาลและผู้สนใจสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้เป็นอย่างดี

References

วณิชา พึ่งชมพู. การพยาบาลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือด. วณิชา พึ่งชมพู บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : เชียงใหม่ : 2558 หน้า 2 - 3

ศิริวรรณ จิรศิริธรรม. ตำราวิสัญญีสำหรับการปลูกถ่ายไต. ศิริวรรณ จิรศิริธรรม บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร :กรุงเทพ : 2549 หน้า 149 - 213

วรภา สุวรรณจินดา. ภาวะแทรกซ้อนจาการให้สารนํ้าทางหลอดเลือดดำ. อังกาบปราการรัตน์ และ วรภา สุววรณจินดา บรรณาธิการ. ภัยของการให้ยาระงับความรู้สึก. สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร, กรุงเทพ : 2530 หน้า 80 - 87

ชัชวาล วงค์สารี. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต.ชัชวาล วงค์สารี บรรณาธิการ. การพยาบาลอายุรศาสตร์ – ศัลยศาสตร์ โรคไตและระบบทางเดินปัสสาวะ. สำนักพิมพ์ NP Press : กรุงเทพ : 2559 หน้า 510 - 526

สมพร ชินโนรส. การพยาบาลทางศัลยศาสตร์ เล่ม 1 : สมพร ชินโนรส บรรณาธิการ บริษัท รำไทยเพลสจำกัด, กรุงเทพ : 2557, หน้า 57 - 67

สมพร ชินโนรส. การพยาบาลทางศัลยศาสตร์ เล่ม 4 : สมพร ชินโนรส บรรณาธิการ บริษัทรำไทยเพลสจำกัด, กรุงเทพ:2557, หน้า 75 - 79

อรวรรณ พงศ์รวีวรรณ. การดูแลและให้ยาระงับความรู้สึกสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ. อังกาบ ปราการรัตน์ บรรณาธิการ . ตำราวิสัญญีวิทยา. เอ-พลัส พริ้น, กรุงเทพ: 2556 หน้า 479 - 490

ภัณฑิลา ชลวิสุทธิ์. การให้ยาระงับความรู้สึกโรคไต. ตำราฟื้นฟูวิชาการวิสัญญีวิทยา. อรลักษณ์ รอดอนันต์ บรรณาธิการ บริษัท ธนาเพลส, กรุงเทพ : 2555

ชวนพิศ วงศ์สามัญ. การตรวจทางห้องปฎิบัติการและการพยาบาล. ชวนพิศ วงศ์สามัญ บรรณาธิการ ขอนแก่นการพิมพ์, ขอนแก่น : 2559 หน้า 27 - 49

เทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์ . การติดตามเฝ้าระวังระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด.เทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์ บรรณาธิการ . โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพ : 2552 หน้า 11 - 39

พรศิริ พันธสี. กระบวนการพยาบาลแบบแผนสุขภาพ การประยุกต์ใช้ทางคลินิก. พรศิริ พันธสี บรรณาธิการ.; ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิมพ์อักษร,กรุงเทพ : 2562

กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สำนักสารนิเทศ. ข้อมูลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังของประเทศไทยปี 2561 สืบค้นจาก https, //pr.moph,go.th
(7 กรกฎาคม 2562)

กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. รายงานระบบประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2561 สืบค้นจาก http;//WWW.nhso.go.th (6 มิถุนายน 2562)

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย, สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย. ศูนย์ข้อมูลปลูกถ่ายอวัยวะปี 2560 สืบค้นจาก www.nephrothai.org

Downloads

Published

2019-09-19

How to Cite

พิทักษ์แทน ศ. (2019). Nursing care End Stage Renal Disease of Anesthesia for Kidney transplantation : cases series. Region 11 Medical Journal, 33(3), 589–600. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Reg11MedJ/article/view/217030