ระบบไฟนำทางเพื่อความปลอดภัยทางเภสัชกรรม

ผู้แต่ง

  • รัตติยาพร แก้วสุ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์
  • ปนัดดา ฮูเซ็น กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์

คำสำคัญ:

ระบบไฟนำทาง, เครื่องจัดยากึ่งอัตโนมัติ, ความคลาดเคลื่อนทางยา

บทคัดย่อ

บทนำ: ความคลาดเคลื่อนทางยาเป็นปัญหาสำคัญของโรงพยาบาล สถิติปีงบประมาณ 2563-2565 พบอัตราความคลาดเคลื่อนทางยา 3.33  2.62 และ 3.23 ครั้งต่อ 1,000 ใบสั่งยาตามลำดับ และมีความรุนแรงระดับ E ถึง 3 ครั้ง จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์พบว่า กระบวนการที่เกิดความคลาดเคลื่อนทางยามากที่สุดคือ การจัดยาผิดชนิดหรือผิดความแรง เฉลี่ยร้อยละ 48.71 ของความคลาดเคลื่อนทางยาทั้งหมด กลุ่มงานเภสัชกรรมเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำโครงการ“ระบบไฟนำทาง เพื่อความปลอดภัยทางเภสัชกรรม” ซึ่งใช้ไฟ LED ช่วยระบุตำแหน่งยา เพื่อให้จัดยาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์: 1. ลดความคลาดเคลื่อนของการจัดยาผิดชนิดหรือผิดความแรงของห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกลงมากกว่าร้อยละ 70.00 ในปีงบ 2566 2. ลดความคลาดเคลื่อนของการจัดยาเสพติดและยาเฉพาะรายผิดชนิดหรือผิดความแรงลงร้อยละ 100.00 ในปีงบ 2566 รวมถึงสามารถเรียกรายงานการจัดยาได้ร้อยละ 100.00

วิธีดำเนินการ: มีการดำเนินการตามกรอบ Plan Do Check Act ดังนี้ 1. ออกแบบและติดตั้งตู้จัดยาของระบบไฟนำทางที่มี LED ระบุตำแหน่งยา  2. คิดค้นระบบควบคุมการเข้าถึงยาเสพติดและยาเฉพาะราย  3. เขียนโปรแกรมเชื่อมต่อระบบกับโปรแกรมโรงพยาบาล  4. จัดยาโดยบันทึกข้อมูลใบสั่งยา ส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ หยิบยาตามตำแหน่งไฟ LED และกดปิดไฟเพื่อจบกระบวนการ และ 5. แก้ไขข้อผิดพลาดพร้อมทั้งพัฒนาจุดด้อยที่เกิดจากระบบไฟนำทาง รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน

ผลการศึกษา 1. อัตราความคลาดเคลื่อนก่อนจ่ายยาปีงบประมาณ 2566 เทียบกับ 2565 ลดลงจาก 8.02 เป็น 2.33 ครั้งต่อ 1,000 ใบสั่งยา (ลดลงร้อยละ 70.95) 2. อุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนหลังจ่ายยาปีงบ 2566 เทียบกับ 2565 ลดลงจาก 16 เป็น 3 ครั้ง (ลดลงร้อยละ 81.25) 3. อุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนของการจัดยาเสพติดและยาเฉพาะรายลดลงจาก 1 เป็น 0 ครั้ง (ลดลงร้อยละ 100.00) และเรียกรายงานการจัดยาได้ร้อยละ 100.00

สรุป : ระบบไฟนำทางเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติที่เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลและมีต้นทุนต่ำกว่าระบบอัตโนมัติอื่น ลดความคลาดเคลื่อนของการจัดยาผิดชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังอาศัยมนุษย์ร่วมจัดยา ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการไม่ทำตามระบบ จึงต้องมีการติดตามและพัฒนาต่อไป

References

National Coordinating Council for Medication Error Report and Prevention (NCC MERP). NCC MERP Taxonomy of Medication Errors; [internet]. 2001 [cited 2023 Aug 14]. Available from: http://www.nccmerp.org/sites/default/files/taxonomy2001-07-31.pdf

เพียงเพ็ญ ชนาเทพาพร. ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการจ่ายยาด้วยเครื่องจัดยา อัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์จัดมือในผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์. ศรีนครินทร์เวชสาร 2563; 35(3): 311-319.

ภูรี อนันตโชติ และคณะ. การทดลองใช้และประเมินผลตัวชี้วัดสำหรับงานเภสัชกรรมโรงพยาบาล ศูนย์สารสนเทศและวิจัยระบบยา (ศสวย) [อินเตอร์เน็ต]. 2550 [เข้าถึงเมื่อ 10 สิงหาคม 2566]; 1:49-51. เข้าถึงได้จาก: https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/643/hs1406.pdf?sequence=2&isAllowed=y

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-11