ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมียาเหลือใช้ของผู้ป่วยนอกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม

ผู้แต่ง

  • ปนัดดา แสงทอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • นิตยา เพ็ญศิรินภา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พาณี สีตกะลิน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ยาเหลือใช้, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม

บทคัดย่อ

ปัญหายาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากเกิดความสูญเสียในด้านงบประมาณและอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ปัจจัยด้านผู้ป่วย และปัจจัยด้านการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการมียาเหลือใช้ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (2) ความชุก ชนิด ปริมาณ และมูลค่ายาเบาหวานที่เหลือใช้ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน  และ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านผู้ป่วย และปัจจัยด้านการรักษากับการมียาเหลือใช้ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม ประชากรในการวิจัย คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รักษาด้วยยาเม็ด ในคลินิกเฉพาะโรคเบาหวานแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 3,109 คน กลุ่มตัวอย่าง 234 คน ได้จากการสุ่มแบบมีระบบ เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามและแบบบันทึกยาเหลือใช้ วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการทดสอบไคสแควร์ ผลการวิจัยพบว่า (1) ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 59.15 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,021.6 บาท กินยาด้วยตนเอง ไม่ใช้ยาสมุนไพร ไม่ทราบมูลค่ายาที่ได้รับ กว่าครึ่งมีพฤติกรรมการกินยาที่ผิด ใช้สิทธิบัตรทอง มีนัดพบแพทย์นาน 3 เดือนขึ้นไป แพทย์มีการสั่งยาเกินนัด (2)  ความชุกของการมียาเหลือใช้ ร้อยละ 86.80 มียาเหลือใช้รวม 20,508 เม็ด มูลค่ารวม 4,770.93 บาท ยาที่เหลือมากที่สุด คือ Glipizide 5 mg (3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมียาเหลือใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ พฤติกรรมการกินยา การสั่งจ่ายยาเกินนัดของแพทย์และระยะเวลาการนัดหมาย ซึ่งพฤติกรรมการกินยาผิดของผู้ป่วย การสั่งจ่ายยาเกินนัดของแพทย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหายาเหลือใช้ และผู้ป่วยที่มีระยะเวลานัดหมายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 เดือนจะมียาเหลือใช้มากกว่าผู้ป่วยที่มีระยะเวลานัดหมายมากกว่า 2 เดือน เนื่องจากการมาพบแพทย์บ่อยครั้งก็ย่อมทำให้มีโอกาสที่จะได้รับยาเกินบ่อยขึ้น ดังนั้นจึงทำให้มียาเหลือใช้มากขึ้นตามไปด้วย

References

1. World Health Organization. Global report on diabetes. [Online]. 2016 [cited 2018 Jun 25]; Available from: http://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/204871/9789241565257_eng.pdf?sequence=1
2. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. (พิมพ์ครั้งที่ 2) ปทุมธานี: ร่มเย็นมีเดีย; 2560.
3. ปรารถนา ชมพูนท. ยาเหลือใช้และพฤติกรรมการใช้ยาของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ [วิทยานิพนธ์]. เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2554.
4. วุฒิรัต ธรรมวุฒิ, พรเพ็ญ ลือวิทวัส. การสำรวจปริมาณและมูลค่ายาเหลือใช้ในผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช. วารสารเวชบันทึกศิริราช. 2557; 7(1): 20-5.
5. วิภาดา ปุณณภาไพศาล. การออกแบบระบบการจัดการยาเหลือใช้ในผู้ป่วยเบาหวานโดยการวิเคราะห์สาเหตุราก [วิทยานิพนธ์]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม; 2560.
6. วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์, วรวรรณ กีสิทธิสมบูรณ์, วิกัญญา เจนสุริยะกุล, กาญจนา ศรีนวลรอด, โศภิญญา จันทร์เพ็ญ. การสำรวจยาเหลือใช้และปัจจัยที่เป็นสาเหตุ กรณีศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตำบลหนองปากโลง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. วารสารวิชาการสาธารณสุข. 2555; 21(6): 1140-7.
7. ชิตพล พิสุทธิโกศล. ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดยาเหลือใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนกับศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองประชาสโมสร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น [วิทยานิพนธ์]. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2557.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-20