การวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมการบริการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • ศุภมาส อำพล โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
  • นิตยา เพ็ญศิรินภา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พรทิพย์ กีระพงษ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

ต้นทุนกิจกรรมบริการ, ภาวะสมองเสื่อม, งานผู้ป่วยนอก

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมการบริการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมต่อราย (2) วิเคราะห์ต้นทุนต่อกิจกรรม และ (3) เปรียบเทียบต้นทุนการบริการกับรายได้ที่เรียกเก็บ ตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ประชากร คือ ข้อมูลผู้รับบริการการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมต่อปี จำนวน 170 ราย กลุ่มตัวอย่าง คือ ข้อมูลผู้ป่วยจำนวน 45 ราย จากการสุ่มตามช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ พจนานุกรมกิจกรรมบริการการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม แบบบันทึกต้นทุนลงทุนและต้นทุนดำเนินการ ซึ่งใช้เก็บข้อมูลปฐมภูมิด้านเวลาและปริมาณงานกิจกรรม และข้อมูลทุติยภูมิที่เป็นต้นทุนจากแผนกการเงิน งานพัสดุ งานแผนและนโยบาย และงานธุรการของโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ยและร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า (1) ต้นทุนรวมกิจกรรมบริการการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมต่อราย ณ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ มีค่าเท่ากับ 4,646.68 บาท คิดเป็น สัดส่วนต้นทุนค่าแรง : ต้นทุนค่าวัสดุ : ต้นทุนค่าลงทุน เท่ากับ 95.41 : 4.23 : 0.36  (2) ต้นทุนต่อกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการซักประวัติอาการ การเตรียมผู้ป่วยก่อนการคัดกรองเบื้องต้นมีต้นทุน 641.96 บาท กิจกรรมการใช้แบบคัดกรองภาวะสมองเสื่อมมีต้นทุน 1,139.70 บาท กิจกรรมการตรวจวินิจฉัยโดยอายุรแพทย์ระบบประสาทมีต้นทุน 2,004.08 บาท และกิจกรรมการแนะนำการปฏิบัติตัว และการมาตรวจตามนัดมีต้นทุน 594.28 บาท คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนกิจกรรมก่อนพบแพทย์ : กิจกรรมขณะพบแพทย์ : กิจกรรมหลังพบแพทย์ เท่ากับ 3 : 3.7 : 1  และ (3) ค่าเฉลี่ยการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมต่อราย รวมทุกสิทธิการรักษา เท่ากับ 4,040.01 บาท ซึ่งปัจจุบันการเบิกจ่ายหรืองบประมาณที่ถูกจัดสรรสำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมแบบผู้ป่วยนอก  ในผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายต่อครั้งได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 650บาท สำหรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและผู้ป่วยที่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บได้ตามค่าใช้จ่ายจริง

 

References

มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. ประชากรไทยในอนาคต [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2561 จาก http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article02.htm.

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. คู่มือป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ; 2558.

เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย. เศรษฐศาสตร์สุขภาพสำหรับการจัดบริการสุขภาพ. สงขลา: ชานเมืองการพิมพ์; 2557.

รณชัย โตสมภาค. แนวทางปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2561 จาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=32420.

ฐิติณัฏฐ์ อัคคะเดชอนันต์. Unit Cost Analysis. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2551: 47-55.

สถาบันประสาทวิทยา. แนวทางเวชปฏิบัติภาวะสมองเสื่อม. กรุงเทพฯ: กรมการแพทย์; 2557.

เนตรนภา หลักฐาน และสุรเดช ประดิษฐบาทุกา. การวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมบริการการตรวจวินิจฉัยโรคต้อกระจกในงานผู้ป่วยนอกจักษุ โรงพยาบาลศรีสะเกษ. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2553.

สุกัญญา เตชะสุวรรณา. ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลผู้ป่วยโรคตา โรงพยาบาลอุตรดิตถ์. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2549.

วนิดา ริ้วสุวรรณ. การศึกษาต้นทุนหน่วยบริการ Unit Cost แบบ Modified Full Cost ของโรงพยาบาลเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2556 เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2557. วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า, 2558; 32(2): 157-172.

ธนานันต์ ศรีประโคน, ศิริชัย ประเสริฐแก้ว, และศิริขวัญ พูลกำลัง. ต้นทุนการให้บริการของโรงพยาบาลประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ปี 2555. บุรีรัมย์: โรงพยาบาลประโคนชัย; 2555.

ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย. ต้นทุนโรงพยาบาล สังกัด สป.สธ. เพิ่มสูง หวั่นทำระบบสาธารณสุขสะดุด. คมชัดลึก; 2555; 8-12.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-04-22