Publication Ethics

มาตรฐานทางจริยธรรมของบรรณาธิการ (Editor) ผู้ประเมินบทความ(Reviewer) และผู้แต่ง (Author) ของวารสารวิชาการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

หน้าที่ของบรรณาธิการต่อการทำงานวารสาร

  1. บรรณาธิการทำหน้าที่รับบทความและจัดกระบวนการประเมินพิจารณาบทความในรูปแบบ double blind peer review เพื่อนำการตีพิมพ์ลงในวารสาร
  2. บรรณาธิการจะเป็นผู้ดูแลกระบวนการตีพิมพ์บทความของวารสาร (Peer Review Process) เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และขอบเขตสาขาการรับของวารสาร ตามมาตรฐานทางวิชาการ
  3. บรรณาธิการจะสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการของผู้เขียน ภายใต้ขอบเขตของจริยธรรม และศีลธรรม
  4. บรรณาธิการจะเผยแพร่เนื้อหาบทความและดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องทางวิชาการ โดยไม่ขัดกับเงื่อนไขทางจริยธรรม และศีลธรรม
  5. บรรณาธิการจะไม่รับพิจารณาบทความที่มีการเขียนข้อความจาบจ้วง ลบหลู่ ดูหมิ่น ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา สถาบันการปกครอง หรือขัดต่อศีลธรรม
  6. บรรณาธิการจะปรับปรุงพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของวารสารอย่างต่อเนื่อง
  7. บรรณาธิการจะพิจารณาบทความด้วยความเป็นกลางโดยปราศจากอคติ ใด ๆ ของผู้แต่งและผู้ประเมิน
  8. บรรณาธิการจะไม่นำความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางวิชาการมาตัดสินใจรับหรือปฏิเสธบทความ
  9. บรรณาธิการจะไม่นำบทความจากผู้แต่งไปทำซ้ำ เขียนใหม่ เพื่อให้เป็นบทความของตนเองหรือกลุ่มวิจัย
  10. บรรณาธิการจะไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ กับผู้แต่ง ผู้อ่าน หรือผู้ประเมิน ใด ๆ
  11. บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แต่ง และข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจถูกแสดงไว้ในบทความ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
  12. กรณีมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นและเกินกว่า อำนาจ หน้าที่ของบรรณาธิการ บรรณาธิการจะนำเรื่องเข้าสู่ กองบรรณาธิการ เพื่อตัดสินใจโดยอยู่บนพื้นฐานของความเห็นร่วมกันโดยฉันทามติ (consensus)

 บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. บทความที่จัดส่งเข้ามายังวารสารจะต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะ มาก่อน หรืออยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์ ทั้งในรูปแบบของ เว็บบล็อก เว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วารสาร  หนังสือ แมกกาซีน หรืออื่น ๆ
  2. ผู้แต่งต้องแสดงเอกสารใบรับรองจริยธรรม หากบทความมีการวิจัยเกี่ยวข้องกับกับการทำวิจัยในคน ตามเงื่อนไขของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
  3. บทความจะต้องไม่เป็นการคัดลอกผลงาน (plagiarism) จากแหล่งอื่น กระบวนการวิจัยต้องปราศจากการจัดการ ยักย้ายถ่ายเท (manipulate) เปลี่ยนแปลง ปิดบัง หรือละเลย ผลการศึกษาโดยไม่มีคำอธิบายที่ถูกต้อง และ ผลการวิจัยต้องปราศจากการเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง (fabrication)  หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ
  4. ผู้แต่งต้องอ้างอิงผลงานผู้อื่นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเมื่อนำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบทความของตนเอง
  5. ผู้แต่งต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของข้อมูลและเนื้อหา รูปภาพ ภายในบทความของตนเอง
  6. ผู้ร่วมวิจัย (co-author) ทุกคนต้องได้ยินยอมให้และรับทราบการส่งบทความนี้มายังวารสารวิชาการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  7. ข้อความ ในบทความถือเป็นความคิดเห็นของผู้แต่งทั้งหมด และเป็นความรับผิดชอบของผู้แต่งและคณะ
  8. ผลงานของผู้นิพนธ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการเสนอ เพื่อพิจารณาเผยแพร่ในวารสารฉบับอื่น

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความจะพิจารณาบทความด้วยความเต็มใจ ตามความสามารถทางวิชาการของตนเอง
  2. ผู้ประเมินจะไม่ทราบชื่อผู้แต่งจนกว่าบทความได้รับการตีพิมพ์
  3. ผู้ประเมินจะแจ้งให้บรรณาธิการทราบหากพบว่าเนื้อหาบทความมีความเกี่ยวข้องกับตนเองทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อลดอคติของการพิจารณาบทความ
  4. ผู้ประเมินจะไม่นำบทความที่พิจารณา หรือนำผลที่พบ ไปเขียนเป็นบทความเรื่องใหม่ของตนเอง
  5. ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณาบทความจากคุณภาพทางวิชาการของบทความ และต้องให้เหตุผลการขอให้ผู้แต่งแก้ไข รับบทความ การปฏิเสธรับบทความ เป็นลายลักษณ์อักษรให้กับบรรณาธิการได้ทราบ
  6. การประเมินต้องกระทำให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่บรรณาธิการกำหนด