ความชุกของการมีภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในผู้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยราชภัฎกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด: การประเมินชุดตรวจแอนติบอดีรวดเร็วในภาคสนาม

ผู้แต่ง

  • กมลทิพย์ อัศววรานันต์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค
  • อมรมาศ คงเกลี้ยง สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค
  • สมรักษ์ ศิริเขตรกรณ์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค
  • เอนก มุ่งอ้อมกลาง สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

คำสำคัญ:

ความชุกของภูมิคุ้มกัน, โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พระราชทานปริญญาบัตร, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ชุดตรวจแอนติบอดีรวดเร็ว

บทคัดย่อ

ความชุกของการมีภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในกลุ่มบัณฑิต อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบคำแนะนำการคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 รวดเร็วในกิจกรรมรวมตัวของคนหมู่มาก กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ทำการสำรวจความชุกของการมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ COVID-19 ในผู้ร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วยชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 รวดเร็ว (rapid test) หากพบผลบวก ผู้ร่วมพิธีจะได้รับการชี้แจงเพื่อยินยอมตอบแบบสอบถามและเก็บตัวอย่างซีรั่มตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยวิธี chemiluminescence immunoassay (CLIA) และ microneutralization assay (MNA) จากการตรวจด้วยชุดตรวจรวดเร็ว จำนวน 15,684 ราย พบผลบวกจำนวน 299 ราย (ร้อยละ 1.91) ตอบแบบสอบถามความเสี่ยงและอาการของการติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จำนวน 107 ราย มีเพียงร้อยละ 31.8 ที่มีประวัติเสี่ยง โดยส่วนใหญ่ให้ประวัติเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดในประเทศไทย (ร้อยละ 13.1) ผู้ที่พบผลบวกจำนวน 202 ราย ได้รับการตรวจด้วยวิธี CLIA และ MNA พบว่ามีเพียง 1 รายตรวจพบผล reactive ต่อแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยวิธี CLIA และตรวจไม่พบแอนติบอดีด้วยวิธี MNA หมายความว่าไม่พบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ในกลุ่มผู้เข้าร่วมพิธี

การแปลผลชุดตรวจเร็วในภาคสนามควรทำอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะในประชากรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของ COVID-19 ต่ำ ค่าทำนายผลบวกของชุดตรวจเร็วต่ำมากเมื่อเทียบกับวิธี CLIA และ MNA ทำให้ผู้ที่ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ได้รับการตรวจ RT-PCR โดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาความไวและความจำเพาะของชุดตรวจเร็วแต่ละชนิดในภาคสนาม การตรวจเลือดหาแอนติบอดีไม่สามารถแทนวิธี RT-PCR ที่เป็น gold standard ในการวินิจฉัยการติดเชื้อ COVID-19 ได้ การคัดกรองประวัติเสี่ยงการติดเชื้อก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญายังมีความสำคัญ หากพบประวัติเสี่ยง เจ้าหน้าที่ควรพิจารณาตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยไม่คำนึงถึงผลชุดตรวจเร็ว

References

ราชกิจจานุเบกษา. ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 10) [อินเตอร์เน็ต]. 2563. [เข้าถึงเมื่อ 23 กันยายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://media.thaigov.go.th/uploads/public_img/source/10.pdf

กรมควบคุมโรค. รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 [อินเตอร์เน็ต]. 2563. [เข้าถึงเมื่อ 23 กันยายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/situation.php.

กรมควบคุมโรค. แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับ 15 พฤษภาคม 2563. [อินเตอร์เน็ต]. 2563. [เข้าถึงเมื่อ 23 กันยายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_srrt/g_srrt_150563.pdf.

Rostami A, Sepidarkish M, Leeflang MMG, Riahi SM, Nourollahpour Shiadeh M, Esfandyari S, et al. SARS-CoV-2 seroprevalence worldwide: a systematic review and meta-analysis. Clin Microbiol Infect. 2020.

Abbott. Panbio COVID-19 IgG/IgM antibody test Instructions for use. 2020.

Vitros Immunodiagnostic. Instructions for use. In: Vitros Immunodiagnostic, editor. 2020.

Amanat F, White KM, Miorin L, Strohmeier S, McMahon M, Meade P, et al. An In Vitro Microneutralization Assay for SARS-CoV-2 Serology and Drug Screening. Curr Protoc Microbiol. 2020;58(1):e108.

Long QX, Tang XJ, Shi QL, Li Q, Deng HJ, Yuan J, et al. Clinical and immunological assessment of asymptomatic SARS-CoV-2 infections. Nat Med. 2020;26(8):1200-4.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-07-07