รูปแบบการดำเนินงานควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิผลและคุณลักษณะ/ทักษะที่สำคัญของบุคลากรในการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับจังหวัด

ผู้แต่ง

  • ฐิติพร กันวิหค สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค
  • วิไลลักษณ์ หฤหรรษพงศ์ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค
  • จุฑาทิพย์ ปรีการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9

คำสำคัญ:

รูปแบบ, ยาสูบ, การบริโภค

บทคัดย่อ

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาสูบเป็น 1 ใน 9 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่สำคัญของโรคไม่ติดต่อ โดยกำหนดให้ลดการบริโภคยาสูบลง 30% ภายในปี 2568 โดยสถานการณ์การบริโภคยาสูบปี 2550 – 2557 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคงที่ พบผู้เสียชีวิตมากกว่า 50,000 ราย/ปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่าปีละ 52,189 ล้านบาท คิดเป็น 0.54% ของ GDP ปัจจุบันการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับจังหวัด ยังขาดการกำหนดรูปแบบและโครงสร้างการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้วแต่บริบทพื้นที่ จากการศึกษาในจังหวัดที่มีอัตราการบริโภคยาสูบลดลง และจังหวัดที่มีอัตราบริโภคยาสูบเพิ่มขึ้น แตกต่างกันร้อยละ 10 - 20 สุ่มเลือกตามเขตของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ได้ สคร. เขต 11 (นครศรีธรรมราช), 6 (ขอนแก่น), 10 (เชียงใหม่), 1 (กรุงเทพมหานคร) และเลือกอย่างละ 2 จังหวัดที่มีอัตราเพิ่มและลดสูงสุด ที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างกัน มีการใช้หลายมาตรการและต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน

รูปแบบการดำเนินงานควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิผลต้ององค์ประกอบและการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ องค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินงานควบคุมยาสูบคือต้องมีการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนงาน มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน อีกทั้งผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด ต้องการการทำงานรวมกันระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ดำเนินงานโดยมีคณะกรรมการควบคุมยาสูบหรือบูรณาการ กำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการและบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนประกอบด้วย หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีคณะทำงานระดับอำเภอต้องหาภาคีเครือข่ายในการร่วมดำเนินงาน โดยกำหนดการดำเนินงานเป็นนโยบายระดับพื้นที่ เช่น การดำเนินงานชุมชนปลอดบุหรี่ กลไกการดำเนินงานในหลายมาตรการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ การสร้างความตระหนักด้านพิษภัยของยาสูบการดำเนินงานให้สถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ การวางแผนงานและแผนปฏิบัติการ ระบบเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมการบริโภคยาสูบ การบังคับใช้กฎหมาย การแนะนำให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ โดยมีการติดตามและการประเมินผลเป็นระบบ รูปแบบการดำเนินงาน มีการทำงานภายใต้คณะกรรมการฯ จังหวัด สสจ.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดย สสจ. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นผู้นำชี้แนะการดำเนินงาน แล้วผลักดันให้เครือข่ายคิดและดำเนินการ เป็นงานของทุกหน่วยงานที่ต้องทำร่วมกัน มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานที่ชัดเจนเน้นการดำเนินงานในการสร้างความตระหนักด้านโทษพิษภัย การทำให้สถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ รองลงมาคือ ระบบเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมการบริโภคยาสูบ

คุณลักษณะ/ทักษะที่จำเป็นในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติบุคลากรที่จะมาดำเนินงานควบคุมยาสูบให้ชัดเจน โดยจำเป็นจะต้องมีความรู้ ประสบการณ์ในการดำเนินงาน มีความสามารถในการประสานงาน มีความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมีความคิดเชิงบวก คุณลักษณะการดำเนินงานที่ต้องมีของบุคลากรคือ การสร้างความตระหนัก ด้านโทษพิษภัย การเฝ้าระวังป้องกัน แนะนำให้บริการเลิกบุหรี่ การวางแผนงานและแผนปฏิบัติการ และการตรวจเตือนบังคับใช้กฎหมายและทักษะที่จำเป็นในการดำเนินงาน ได้แก่ ทักษะการใช้การสื่อสาร การแก้ไขปัญหา การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การคิดวิเคราะห์ /ความคิดเชิงบวก การประสานงาน การทำงานกับเครือข่าย การเอื้ออำนวยกระบวน การเรียนรู้และ ทักษะการเป็นผู้นำ

References

Rawdaree P., Ngarmukos C., Deerochan awong C., Suwanwalaikorn S., Chetthakul T.,Krittiyawong S., Benja suratwong Y., Bunnag P., Kosachun hanun N., Plengvidhya N.,Leelawatana R., Prathipanawatr T., Likitmaskul S., Mongkolsomlit S. Thailand diabetes registry (TDR) project: clinical status and long term vascular complications in diabetic patients. J Med Assoc Thai. 2006 Aug ;89 Suppl 1 :S1-9

สรุปสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงหลักด้านยาสูบของประเทศไทย พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ : เจริญดีมั่นคงการพิมพ์, 2557

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2557. สรุปสำหรับผู้บริหารการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2557 [อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2558].

สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค. 2556. สรุปสถานการณ์และแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทย รายงานประจำปี 2556

สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค.2557. รายงานผลการติดตามประเมินกระบวนการบริหารจัดการการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2555 - 2557

ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์, อรุณรักษ์ คูเปอร์มีใย, เทียนทิพย์ เศียรเมฆัน และ ระติกร เพมบริดจ์. การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเพื่อการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด. นำเสนอในการประชุม วิชาการ ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกนักประชาธิปไตยในโอกาส 9 ปี สช.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-15