Prevalence and Associated Factors of Tinea Infection among Soldiers Attending a Ranger Training Course

Main Article Content

วชิราภรณ์ ไทยประยูร
คทาวุธ ดีปรีชา
สุพิชญา ไทยวัฒน์
กัญญาณัฐ ทรัพย์พรรณราย
วิโรจน์ เจียมจรัสรังษี

Abstract

บทนำ โรคกลากสามารถพบได้บ่อยในทหาร เนื่องจากลักษณะการปฏิบัติหน้าที่และภาวะสุขอนามัย โรคกลากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกลากที่จำเพาะต่อบริบทของกองทัพไทยยังคงมีอยู่อย่างจำกัด


วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกลากบริเวณลำตัว ขาหนีบ และเท้าในทหารที่ฝึกในหลักสูตรการรบแบบจู่โจม วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง ศึกษาในทหารที่ฝึกในหลักสูตรการรบแบบจู่โจม โรงเรียนสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 2561 จำนวน 305 คน โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจ direct examination และการเพาะเลี้ยงเชื้อรา ทำการวิเคราะห์สถิติด้วย Multiple logistic regression ผลการศึกษา พบความชุกของโรคกลากบริเวณเท้ามากที่สุดร้อยละ 5.9 รองมาบริเวณขาหนีบพบร้อยละ 3.0 และบริเวณลำตัวพบร้อยละ 0.3 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการการเกิดโรคกลากบริเวณเท้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ ปัจจัยประวัติโรคกลากคือ การเคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคกลากบริเวณเท้า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาก่อนนี้ (p-value = 0.036) และปัจจัยการทำงานบ้านและงานอดิเรก คือ การสัมผัสดินโดยเท้า (p-value = 0.033) ส่วนโรคกลากบริเวณขาหนีบไม่มีปัจจัยใดที่มีความสัมพันธ์กับการการเกิดโรคกลากบริเวณขาหนีบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป หากมีมาตรการป้องกันด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมร่วมกับมีการตรวจร่างกายในระบบผิวหนังก็จะสามารถลดการเกิดโรคและผลกระทบต่างๆ ที่ตามมาได้

Article Details

Section
นิพนธ์ต้นฉบับ (Original Article)