ความสัมพันธ์ระหว่างการตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำโดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กับสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ เพื่อแสดงกายวิภาคของหลอดเลือดดำที่แขน ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
Main Article Content
Abstract
ความเป็นมา: การพิจารณาเลือกตำแหน่งหลอดเลือดที่ใช้เป็นหลอดเลือดนำ (vascular mapping) มีประโยชน์ที่จะทำก่อนการผ่าตัดต่อหลอดเลือดเพื่อล้างไตซึ่งการตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำ (venogram) จะช่วยแสดงกายวิภาคของหลอดเลือดดำที่แขนรวมทั้งหลอดเลือดดำส่วนกลางได้ชัดเจน ในประเทศไทยการตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำจะใช้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพการทำงานของไตต่ำหรือผู้ที่แพ้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารทึบรังสีนั้นได้ใช้กันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีรายงานตีพิมพ์ในประเทศไทย อาจเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตต่ำหรือแพ้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ วัตถุประสงค์ของการวิจัย : เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำโดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ เพื่อแสดงกายวิภาคของหลอดเลือดดำที่แขน ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาวิจัยเชิงทดลอง ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดต่อหลอดเลือดเพื่อล้างไต โดยล้างไตผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (central venous catheter) หรือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีหลอดเลือดนำเพื่อใช้ล้างไตแล้วที่แขนข้างหนึ่ง แต่ต้องการตรวจสอบกายวิภาคของแขนอีกข้าง เพื่อเตรียมพร้อมกรณีที่หลอดเลือดนำที่ใช้ในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้ ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทั้งหมด 45 ตำแหน่งหลอดเลือด ผลการศึกษา: การตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำโดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแสดงกายวิภาคของหลอดเลือดดำที่แขน ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำโดยใช้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.8, P-value < 0.0001)และจากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม ที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน (pair sample t-test) พบว่าขนาดของหลอดเลือดดำที่แขนที่ตรวจทางรังสีหลอดเลือดดำโดยใช้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบและก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ไม่มีความแตกต่างกัน (P-value = 0.154) สรุป: การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารทึบรังสีสามารถแสดงกายวิภาคของหลอดเลือดดำได้ไม่แตกต่างจากการใช้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบช่วยเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพการทำงานของไตต่ำหรือผู้ที่แพ้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ในกรณีหลอดเลือดดำส่วนกลาง (central vein) การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารทึบรังสี ยังแสดงผลได้ชัดเจนกว่าการใช้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่หลอดเลือดดำในส่วนของปลายแขน
Correlation of Carbon Dioxide Contrast and Iodinated contrast Venogram for Vascular mapping at Phramongkutklao Hospital
Background: Venous mapping using conventional venography has been considered to be the gold standard for identified veins suitable for arteriovenous fistula creation. However venograph with iodinated contrast material makes the risk of contrast induced nephropathy and prohibited use in the allergy of iodinated contrast. Objective: To determine prospectively the diagnotic performance of carbon dioxide venography by using conventional venography with iodinated contrast material as the strandard, for the vascular mapping. Materials and Methods: The study was approved by Royal Thai Army, institutional review board and informed consent was obtained from all patients. Forty-six venous sites of 8-patients underwent comparative carbon dioxide and conventional venography of upper extremitiy and central veins. Two independent observers evaluate the diameters of the veins. Interobserver agreements were estimated with intraclass correlation. Calculations of Pearson correlation and pair simple t-test were used for intertechnique observations. Results: For carbon dioxide contrast, interobserver agreement was good (ICC = 0.964, P-value < 0.0001). The reported correlation (r= 0.8) between the carbon dioxide and conventional venography with iodinated contrast material was statistically significant. Conclusion: A positive correlation coefficient of 0.8 was noted the carbon dioxide and conventional venography. There is no statistic difference of venous mapping with carbon dioxide and iodinated contrast venography. However, evaluation of central vein by carbon dioxide venogram is better than conventional venography.