การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • รัตนาภรณ์ เฉลิมศรี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • อดิศร วงศ์คงเดช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ธีรศักดิ์ พาจันท์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, หญิงวัยเจริญพันธุ์, การป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุ 15-44 ปี โดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 87 คน 2. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแกนนำด้านสุขภาพ คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง 27 คน เก็บข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อศึกษาเปรียบเทียบความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติการบริโภคไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนและหลัง โดยใช้แบบสอบถาม และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อวิเคราะห์รูปแบบการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการสังเกต การสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติ Paired  t-test  เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยภายในกลุ่มก่อนและหลังการดำเนินกิจกรรม และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน ส่วนมากแต่งงานและมีบุตรแล้ว ได้รับข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รองลงมาคือเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน รูปแบบการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาบริบทชุมชนและวิเคราะห์ปัญหาในการทำงาน 2) การกำหนดแนวทางและหาวิธีการแก้ไขปัญหา 3) การจัดทำแผนปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 4) การนำแผนไปปฏิบัติ 5) ประเมินผลรูปแบบ  6) สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ ผลการประเมินการใช้รูปแบบการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลนาโพธิ์ ทำให้เกิดกิจกรรมรูปแบบใหม่ของตำบลในการการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมสื่อสารผ่านหอกระจายข่าว 2) จัดการเรียนรู้ให้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ 3) จัดตั้งกองทุนเกลือเสริมไอโอดีนประจำตำบล 4) ตรวจประเมินการบริโภคเกลือไอโอดีทุกครัวเรือน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลหลังการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีน ทัศนคติเกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีน และการปฏิบัติเกี่ยวกับการบริโภคไอโอดีน สูงกว่าก่อนการดำเนินกิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงวัยเจริญพันธุ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลนาโพธิ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) การใช้กระบวนการเรียนรู้และจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 2) การถ่ายทอดความรู้ถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านวิธีการสื่อสารที่หลากหลาย 3) การติดตามและค้นหาหญิงวัยเจริญพันธุ์ในชุมชน 4) การติดตามกำกับและประเมินผลสม่ำเสมอ 5) การสนับสนุนส่งเสริมจากผู้บริหารหน่วยงาน

References

สุนทร ยนต์ตระกูลและคณะ. (2557). รูปแบบการพัฒนาการแก้ไขปัญหาขาดสารไอโอดีนแบบมีส่วนร่วม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. วารสารวิชาการสาธารณสุข. 23 (2), 252-261.

ปัทมาพร ภูมิเวียงศรี. (2547). การส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนในกลุ่มแม่บ้าน ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สมเด็จ มุ่งวิชา. (2556). การพัฒนารูปแบบการจัดการเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายตามวิถีชุมชน บ้านศรีสง่า ตำบลโนนสะอาด อำเภอ
ศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู. วิทยานิพนธ์สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

จิตจำนง กิติกีรติ. (2532). การพัฒนาชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานพัฒนาชุมชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พัฒนา.

วันทนีย์ โลหะประกิตกุล. (2559). ไอโอดีนกับพัฒนาการของสมองเด็ก (ตอนที่ 2 และตอนจบ). สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2559, จาก URL http://haamor.com/th/ไอโอดีนกับพัฒนาการของสมองเด็ก-2/.

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2558). แนวทางการดำเนินงานการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข. ค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559, จาก http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_ hotnew/show _hotnew.php?idHot_new=54328

อดิศร วงศ์คงเดช. (2552). การศึกษาและพัฒนาหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการทางานร่วมกับชุมชน. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2559, จาก http://www.esanphc.net/rtc/online/pl/pl2/.pdf

Lemeshow, S., Hosmer, J. D.W., Klar, J., & Lwanga, S. K. (1990). Adequacy of sample size in health studies. Chichester: John Weiley & Son.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-26