นวัตกรรม “ไอแอม” เพิ่มองศาข้อเข่าหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

Main Article Content

เลิศศิลป เอี่ยมพงษ์

บทคัดย่อ

ที่มา/มูลเหตุจูงใจ


ปัญหาข้อเข่าเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาอาการปวดข้อในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี พบว่าเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อมร้อยละ 50 พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 (กีรติ เจริญชลวานิช, 2559) โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับกระดูกอ่อนข้อต่อ (articular cartilage) จากสาเหตุความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้นและจากการที่ข้อเข่าเป็นข้อที่รับน้ำหนักมากกว่าข้ออื่นๆในร่างกาย (สุภาพ อารีย์เอื้อ, 2551) การได้รับแรงกระทำส่งผ่านมายังข้อซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดจากภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อและสึกกร่อน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อเข่า ข้อเข่าโก่ง งอ และยึดติด หากการดำเนินของโรคมาถึงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดรุนแรงและไม่สามารถเดินได้ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆลดลง แผนการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะนี้คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยใช้วัสดุจำลองข้อเข่าใส่แทนส่วนที่เสียไปทำให้การเคลื่อนไหวข้อเข่าดีขึ้น มีความมั่นคง และลดปวดขณะเคลื่อนไหว


เป้าหมายการรักษาพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือการลดอาการปวด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่าในกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงคนปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี บทบาทพยาบาลในการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพื่อป้องกันข้อเข่ายึดติดจึงมีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการเดินที่มั่นคงและการทำกิจวัตรประจำวันตามความเหมาะสมโดยเร็ว แผนการพยาบาลโดยทั่วไป ประกอบด้วยการกระตุ้นและการเสริมพลังอำนาจให้ผู้ป่วยสามารถบริหารข้อเข่าหลังผ่าตัด เพื่อเพิ่มพิสัยการเหยียดและการงอของข้อเข่า ป้องกันภาวะข้อเข่าติดแข็งและภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ โดยมีการใช้เครื่องขยับข้อเข่าแบบต่อเนื่อง (continuous passive motion: CPM) ช่วยในการบริหารเพิ่มองศาของข้อเข่าให้ได้พิสัยการงออย่างน้อย 65 องศาสำหรับการเดินและอย่างน้อย 105 องศาสำหรับการลุกยืนจากเก้าอี้ แต่โรงพยาบาลมีจำนวนเครื่องขยับข้อเข่าแบบต่อเนื่องจำกัด รวมทั้งเครื่องนี้มีราคาแพง  ผู้ศึกษาจึงมีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมจากการใช้กระดานสไลด์ (slide board) มาสร้างเป็นนวัตกรรม “ไอแอม” (intermittent active motion: IAM) ในการช่วยผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบริหารเพิ่มองศาข้อเข่า


เป้าหมาย


  1. ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีพิสัยการงอข้อเข่าเพิ่มหลังการใช้นวัตกรรม “ไอแอม” ช่วยในการบริหารข้อเข่า

  2. ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมพึงพอใจการใช้นวัตกรรม “ไอแอม” ในการช่วยบริหารข้อเข่า

  3. ลดค่าใช้จ่ายขององค์กรในการจัดหาเครื่องช่วยบริหารข้อเข่าสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

    ผลลัพธ์


    ผลประเมินการใช้นวัตกรรม “ไอแอม” ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำนวน 10 ราย พบว่า


    1. พิสัยการงอข้อเข่าข้างที่ได้รับการผ่าตัดของผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ออกกำลังกายบริหารด้วยการใช้นวัตกรรม “ไอแอม” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 3 หลังการผ่าตัด (ตารางที่ 4)

    2. ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ออกกำลังกายบริหารด้วยการใช้นวัตกรรม “ไอแอม” มีความพึงพอใจมาก โดยมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยมากกว่า 90 (ตารางที่ 5)

    3. ค่าใช้จ่ายขององค์กรในการจัดหานวัตกรรม “ไอแอม” สำหรับให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมออกกำลังกายบริหารข้อเข่ามีราคาถูกกว่าเครื่องขยับข้อเข่าแบบต่อเนื่องประมาณ 385 เท่า โดยนวัตกรรม “ไอแอม” ราคา 700 บาท และเครื่องขยับข้อเข่าแบบต่อเนื่องราคา 270,000 บาท


Article Details

บท
ปกิณกะ

References

กีรติ เจริญชลวานิช. (2559). ศัลยศาสตร์บูรณาสภาพข้อเข่าเสื่อม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศิริราช.
สุภาพ อารีย์เอื้อ และ นภาภรณ์ ปิยขจรโรจน์. (2551). ผลลัพธ์ของโปรแกรมการให้ข้อมูลและการออกกำลังกายที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม.วารสารสภาการพยาบาล, 23, 72-84.