วชิรสารการพยาบาล ได้ปฏิบัติตามนโยบายและขั้นตอนตามแนวทางของคณะกรรมการว่าด้วยจริยธรรมการตีพิมพ์ (The committee on Publication Ethics: COPE) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ.2560 โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรมในการเผยแพร่ทางวิชาการ รายละเอียดแนวปฏิบัติ COPE CORE PRATICE สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม 

ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

บรรณาธิการมีบทบาทและความรับผิดชอบที่สำคัญในการรักษาคุณภาพ ความสมบูรณ์และความน่าเชื่อถือของบทความที่ตีพิมพ์ ตามจรรยาบรรณของ COPE ความรับผิดชอบของบรรณาธิการมีดังนี้
1. การประเมินอย่างยุติธรรมและไม่เอนเอียง บรรณาธิการประเมินต้นฉบับบทความตามคุณค่า ความสร้างสรรค์ ความมั่นใจในความเป็นกลางและหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ
2. การรักษาความลับ บรรณาธิการจัดการต้นฉบับที่ส่งเข้ามาในระบบทั้งหมดอย่างเป็นความลับโดยใช้กระบวนการที่ไม่เปิดเผยชื่อต่อกันในระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งผู้เขียนในกระบวนการประเมินคุณภาพบทความ
3. กระบวนการประเมินคุณภาพที่โปร่งใสและเป็นไปตามกรอบเวลา บรรณาธิการกำกับดูแลกระบวนการประเมินคุณภาพให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ ดังระบุไว้ตามแนวทางสำหรับผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงขั้นตอนแสดงการส่งต้นฉบับบทความเข้าในระบบ การประเมินคุณภาพ และการตีพิมพ์เผยแพร่ ให้แน่ใจว่าต้นฉบับจะได้รับการบริหารจัดการในเวลาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
4. ประโยชน์ทับซ้อน บรรณาธิการต้องหลีกเลี่ยงการตัดสินผลการพิจารณาบทความหากมีประโยชน์ทับซ้อน ในกรณีเช่นนี้ควรมอบหมายการตัดสินใจให้กับกองบรรณาธิการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
5. การตัดสินใจ บรรณาธิการตัดสินผลการพิจารณาจากคุณภาพของต้นฉบับบทความ ความตรงประเด็น ความใหม่ ความสอดคล้องกับขอบเขตและนโยบายของวารสาร
6. การจัดการกับข้อกังวลด้านจริยธรรม บรรณาธิการดำเนินการอย่างเหมาะสม เช่น การแก้ไข การเพิกถอน หรือแสดงข้อกังวล เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสภาการพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมสูงสุด และสอดคล้องกับแนวทางและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการประพันธ์ การคัดลอกผลงานของผู้อื่น และการประพฤติมิชอบในรูปแบบต่างๆ
7. ความถูกต้องสมบูรณ์ของการตีพิมพ์เผยแพร่ บรรณาธิการมีความรับผิดชอบในความถูกต้องสมบูรณ์ของการตีพิมพ์เผยแพร่โดยจัดการกับประเด็นการแก้ไข การเพิกถอน หรือความกังวลที่อาจเกิดขึ้น
8. การมุ่งเน้นคุณภาพและความถูกต้องสมบูรณ์ของบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ บรรณาธิการรับผิดชอบให้ต้นฉบับทั้งหมดผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิอย่างละเอียดรอบคอบ และจัดการกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นหรือการประพฤติมิชอบอย่างเหมาะสม
9. การจัดการกระบวนการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ บรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมสำหรับต้นฉบับแต่ละเรื่อง ตรวจสอบให้แน่ใจว่ากระบวนการประเมินมีความยุติธรรมและเป็นกลาง และจัดการประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
10. การสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิ บรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้แนวทางที่ชัดเจนแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ขอบคุณในการมีส่วนร่วมของผู้ทรงคุณวุฒิและส่งเสริมการพัฒนาเชิงวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
11. การมีส่วนร่วมกับชุมชนการวิจัยและวิชาการ บรรณาธิการจำเป็นต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับชุมชนการวิจัยและวิชาการ ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม รักษามาตรฐานระดับสูงของความเป็นเลิศ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความ

ผู้ทรงคุณวุฒิมีบทบาทสำคัญในการประเมินคุณภาพและความสมบูรณ์ของกระบวนการเผยแพร่ทางวิชาการ เพื่อคงไว้ซึ่งมาตรฐานระดับสูงทางวิชาการ คณะกรรมการจริยธรรมการเผยแพร่ (COPE) เสนอแนวทางสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรมในกระบวนการประเมินคุณภาพตามจริยธรรมของ COPE ความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิมีดังนี้
1. การรักษาความลับ ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องถือว่าต้นฉบับบทความทั้งหมดที่ได้รับการประเมินคุณภาพเป็นเอกสารลับ ไม่ควรให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการ
2. ความเที่ยงธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินต้นฉบับอย่างเป็นกลาง ยุติธรรม และเป็นมืออาชีพ การวิจารณ์ส่วนตัวของผู้เขียนไม่สามารถยอมรับได้ ผู้ทรงคุณวุฒิควรแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนพร้อมแหล่งข้อมูลสนับสนุนหรือโต้แย้ง
3. ความเหมาะสมของเวลา ผู้ทรงคุณวุฒิทำการประเมินคุรภาพของบทความภายในกรอบเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลา ควรแจ้งต่อบรรณาธิการ และหากไม่สามารถประเมินบทความได้ด้วยความจำเป้นใดๆ ให้ปฏิเสธคำเชิญตั้งแต่ต้น
4. การอ้างอิงแหล่งที่มา ผู้ทรงคุณวุฒิควรให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงต้นฉบับบทความ หากพบว่าไม่มีการอ้างอิงในเนื้อหาส่วนที่ควรมีการอ้างอิง
5. ประโยชน์ทับซ้อน ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเปิดเผยเกี่ยวกับประโยชน์ทับซ้อนที่อาจส่งผลต่อการประเมินคุณภาพของบทความต้นฉบับ หากรู้สึกว่าไม่สามารถประเมินได้อย่างเป็นกลาง ควรปฏิเสธการรับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
6. มาตรฐานการรายงาน ผู้ทรงคุณวุฒิมีความรับผิดชอบในการแจ้งให้บรรณาธิการทราบถึงความเหมือนหรือการซ้ำที่ชัดเจนของเนื้อหาในต้นฉบับที่กำลังประเมินกับผลงานตีพิมพ์อื่นๆ ที่พบ
7. ข้อกังวลด้านจริยธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบเกี่ยวกับปัญหาด้านจริยธรรมใดๆ ที่พบในบทความที่ประเมิน รวมถึงการประพฤติผิดที่อาจเกิดขึ้น การปลอมแปลงข้อมูล การสร้างข้อมูลใหม่ หรือการคัดลอกผลงานผู้อื่น
8. การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ ผู้ทรงคุณวุฒิควรให้ข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์และละเอียดรอบคอบ เพื่อช่วยผู้เขียนในการปรับปรุงต้นฉบับบทความ และเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาต่อข้อจำกัดของบทความ
9. การรักษาความซื่อสัตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่ยังไม่ได้เผยแพร่เป็นทางการของต้นฉบับที่กำลังประเมินเพื่อการวิจัยของตนเองหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ควรรักษาสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน
10. การตอบสนอง ผู้ทรงคุณวุฒิสามารถชี้แจง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม และตอบข้อสงสัยหรือคำถามจากบรรณาธิการได้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน

ความรับผิดชอบของผู้เขียน (Author)

ก่อนส่งบทความมายังระบบของวารสารสภาการพยาบาล ผู้เขียนมีความรับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าต้นฉบับของท่านได้รับการเตรียมมาอย่างดี เป็นต้นฉบับที่พัฒนาขึ้นครั้งแรก และปราศจากการคัดลอกผลงานของผู้อื่น การปลอมแปลงข้อมูล หรือการเตรียมต้นฉบับซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งและถือว่าไม่สามารถยอมรับได้ รวมทั้งประเด็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและกระบวนการเผยแพร่ต้องมีความโปร่งใส ตามจรรยาบรรณของ COPE โดยความรับผิดชอบของผู้เขียนมีดังนี้
1. ความคิดริเริ่มและการไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น ผู้เขียนต้องแน่ใจว่าต้นฉบับบทความวิชาการหรือบทความวิจัยที่ได้พัฒนาขึ้น ได้มีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นอย่างถูกต้องเหมาะสม การคัดลอกผลงานหรือขโมยความคิดของผู้อื่นไม่ว่ารูปแบบใดเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในขั้นตอนที่ท่านส่งบทความเข้ามาในระบบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิและภายหลังที่ท่านได้ปรับแก้ต้นฉบับส่งกลับเข้ามา จะมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานโดยใช้ระบบการคัดกรองวารสารและแอปพลิเคชัน COPYCATCH ของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย จึงขอให้ผู้เขียนระมัดระวังการใช้คำ ข้อมูลหรือความคิดของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่อ้างอิง ทั้งนี้วารสารมีความคาดหวังให้ต้นฉบับบทความที่จะตีพิมพ์เผยแพร่นำเสนอความรู้ใหม่

การลอกเลียนแบบ (Plagiarism) ถือเป็นการประพฤติผิดทางวิชาการ ซึ่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในวารสารสภาการพยาบาล การคัดลอกผลงานทางวิชาการมีหลายประเภท ดังนี้
1) การลอกเลียนแบบโดยตรง (Direct plagiarism) เป็นการคัดลอกบางส่วนหรือข้อความทั้งหมดของผลงานผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิงหรือได้รับอนุญาต โดยนำเสนอว่าเป็นงานของตนเอง
2) การลอกเลียนแบบการถอดความ (Paraphrasing plagiarism) เป็นการนำงานของผู้อื่นมาเขียนใหม่โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและไม่มีการอ้างอิงที่เหมาะสม แล้วนำเสนอเป็นงานต้นฉบับของตนเอง
3) การคัดลอกโดยเปลี่ยนบางคำ (Mosaic plagiarism: patchwriting) เป็นการรวมวลีหรือประโยคจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นชิ้นเดียวโดยไม่มีการอ้างอิงที่เหมาะสม ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นงานต้นฉบับของตนเอง
4) การคัดลอกผลงานของตนเอง (Self-plagiarism) การนำงานของตนเองที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้กลับมาใช้ซ้ำโดยไม่อ้างอิงหรือไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักพิมพ์ผู้เผยแพร่ต้นฉบับ
5) การคัดลอกผลงานโดยไม่ตั้งใจ (Accidental plagiarism) การใช้ผลงานของผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจไม่มีการอ้างอิงที่เหมาะสม เนื่องจากการละเลย การขาดความรู้ หรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักในการอ้างอิง
6) การคัดลอกผลงานผู้อื่นทั้งหมด (Global plagiarism) การนำบทความที่เขียนโดยผู้อื่นมาเป็นของตนเอง เช่น การซื้อบทความจากบริการผี เป็นต้น
7) การคัดลอกแบบส่วนเพิ่มหรือการหั่นซาลามี (Incremental plagiarism/ Salami slicing)) การแบ่งผลงานออกเป็นส่วนย่อยๆ อย่างไม่เหมาะสมและไม่อ้างอิงการศึกษาหลัก ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิด จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดจริยธรรม
8) การสร้างข้อมูลและการปลอมแปลงข้อมูล (Data fabrication and falsification) การดัดแปลงหรือสร้างข้อมูลขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนข้อสรุปหรือสมมติฐานของตน ซึ่งเข้าข่ายการประพฤติผิดทางวิชาการอย่างร้ายแรง
2. การเข้าถึงและการเก็บรักษาข้อมูล ผู้เขียนอาจได้รับการร้องขอให้ให้ข้อมูลดิบจากงานวิจัยของตนสำหรับการตรวจทานโดยกองบรรณาธิการและควรเตรียมพร้อมที่จะเก็บข้อมูลนี้ไว้เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมหลังจากการเผยแพร่ ห้ามมิให้มีการดัดแปลงข้อมูลและสารสนเทศการวิจัยโดยเจตนาโดยเด็ดขาด การสร้างข้อมูลหรือการปลอมแปลงข้อมูลครอบคลุมการกระทำต่างๆ เช่น การลบค่าหรือผลลัพธ์ที่ผิดปกติ การแก้ไขรูปภาพและกราฟ ตลอดจนการแก้ไข การเพิ่ม หรือการขาดหายของข้อมูล
3. การตีพิมพ์หลายฉบับ ซ้ำซ้อน หรือพร้อมกัน ผู้เขียนไม่ควรส่งต้นฉบับเดียวกันไปยังวารสารหลายฉบับในเวลาเดียวกัน การส่งงานวิจัยที่เหมือนกันไปยังวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับพร้อมกัน ถือเป็นพฤติกรรมการเผยแพร่ที่ผิดจรรยาบรรณ ผู้เขียนมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่างานของตนไม่ได้ "ตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณา" ของวารสารอื่น จึงควรหลีกเลี่ยงการส่งต้นฉบับเดียวกันไปยังวารสารหลายฉบับ ไม่ว่าการส่งซ้ำจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือห่างกันหลายปีก็ตาม
4. การอ้างอิงแหล่งที่มา ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นอย่างเหมาะสม รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ข้อมูล และแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการวิจัยของตน
5. การประพันธ์บทความ ความเป็นผู้ประพันธ์ควรจำกัดเฉพาะบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการคิด การออกแบบ การดำเนินการ หรือการตีความรายงานการศึกษา ซึ่งควรมีรายชื่อเป็นผู้เขียนร่วม ผู้เขียนต้องแน่ใจว่าผลงานที่ส่งได้รับความเห็นชอบจากผู้เขียนร่วมทุกคนรวมทั้งหน่วยงานต้นสังกัด
6. การเปิดเผยข้อมูลและประโยชน์ทับซ้อน ผู้เขียนควรเปิดเผยผลประโยชน์ด้านการเงินหรือส่วนตัวที่อาจมีอคติต่อผลงาน ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมดสำหรับผลงาน ผู้เขียนจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่างานที่เผยแพร่ไม่มีประโยชน์ทับซ้อนที่ไม่ได้แจ้งไว้
7. ข้อผิดพลาดพื้นฐานในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน หากผู้เขียนระบุข้อผิดพลาดที่สำคัญหรือความไม่ถูกต้องในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ผู้เขียนต้องแจ้งบรรณาธิการวารสารทันทีและร่วมมือกันเพื่อทำการถอนหรือแก้ไขบทความ
8. มาตรฐานการนำเสนอ/เผยแพร่ผลงาน ผู้เขียนต้องนำเสนอเลขที่โครงการที่ถูกต้องของงานวิจัยและความสำคัญของงานวิจัย นำเสนอผลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่เปลี่ยนแปลงข้อมูล ไม่สร้างข้อมูลขึ้นใหม่หรือจัดการข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
9. การศึกษาในสัตว์และมนุษย์ หากทำการศึกษาในสัตว์หรือมนุษย์ ผู้เขียนต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากระบวนการทั้งหมดได้ดำเนินการอย่างมีจริยธรรมและเป็นไปตามแนวทางและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โครงการวิจัยที่นำมานำเสนอในบทความต้นฉบับต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย และระบุเลขรหัสชัดเขนในบทความ ทั้งนี้ ใบรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนที่ผ่านการพิจารณษสามารถเรียกตรวจสอบประกอบการพิจารณาบทความได้
10. การประเมินคุณภาพบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เขียนควรให้ความร่วมมือกับกระบวนการประเมินคุณภาพและข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเหมาะสมและภายในเวลาที่กำหนด หากตัดสินใจที่จะถอนต้นฉบับ ต้องแจ้งบรรณาธิการวารสารทันที