ผลของการอมน้ำแข็งต่ออาการเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร 5FU/LV

ผู้แต่ง

  • นดาพิม ใจกาศ พย.บ., วิจิตรา สุวรรณพันธ์ พย.บ., สุจิตรา ทองทรัพย์ พย.บ.

คำสำคัญ:

การอมน้ำแข็ง, ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด, เยี่อบุช่องปากอักเสบ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการอมน้ำแข็งในการป้องกันและบรรเทาอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและให้ยาเคมีบำบัดชนิด 5-Fluorouracil และ Leucovorin เป็นเวลาติดต่อกัน 5 วัน แต่ละชุดห่างกัน 28 วัน และให้ทั้งหมด 6 ชุดโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่าง 100 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลแบบปกติ จำนวน 50 ราย และกลุ่มทดลอง จำนวน 50 ราย โดยกลุ่มทดลองให้อมน้ำแข็งก่อนให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ 5 นาที และอมต่อเนื่องต่อไปอีก 30 นาทีในแต่ละวัน ติดต่อกัน 5 วัน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบประเมินอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบก่อนได้รับยาเคมีบำบัดและแบบบันทึกอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ ภายหลังการได้รับยาเคมีบำบัด พัฒนามาจาก new scoring system ของโซนิส ซึ่งผู้สร้างเครื่องมือดัดแปลงมาจาก WHOindex และ National Cancer Institute system เพื่อใช้สังเกตอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่อมน้ำแข็งขณะที่ได้รับยาเคมีบำบัดเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) และมีคะแนนความรุนแรงเฉลี่ยของอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เมื่อเปรียบเทียบระดับความรุนแรงของอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบระหว่างสองกลุ่ม พบว่าในวันที่ 2,3,4ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและเมื่อสิ้นสุดการทดลองในวันที่ 5 กลุ่มทดลองมีคะแนนความรุนแรงเฉลี่ยของอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.005) นอกจากนี้ยังพบว่า วิธีการอมน้ำแข็งทำได้ง่าย สะดวก ผู้ป่วยและญาติสามารถปฏิบัติตัวตามได้ง่ายและทำได้อย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

References

Karagozoglu S, Ulusoy MF. Chemotherapy:the effect of oral cryotherapy on the development of Mucositis. Journal of Clinical Nursing 2005; 14: 754-65.

Nilzoletti S. Comparison of plain ice and flavoured ice for preventing oral mucositis associated with the use of 5 fluorouracil. Journal of Clinical Nursing 2005; 14: 750-3.

Papacleas E. Prevention of 5-fluorouracil-relatel stomatitis by oral cryotherapy.Arandomized controlled study European. Journal of oncology Nursing 2007; 11:60-5.

Sonis ST, Eilers JP, Epstein JB, LeVeque FG, Liggett WH, Mulagha MT, et al. Validation of a new scoring system for the assessment of clinical trial research of oral mucositis induced by radiation or chemotherapy. Cancer 1999; 85: 2103-13.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01-10-2019