รูปแบบการจ่ายยาแนวใหม่ที่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังในเขตเทศบาลตำบลบึงบูรพ์ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ ช่วงการระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19

ผู้แต่ง

  • คเชนทร์ ชนะชัย -

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล สามารถรับยาที่บ้าน ได้รับยาเดิมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดยา เพื่อค้นหาปัญหาการใช้ยาที่บ้านของผู้ป่วย และสร้างระบบเภสัชกรรมปฐมภูมิช่วงการระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 พื้นที่ในการศึกษาคือ เขตเทศบาลตำบลบึงบูรพ์ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มตัวอย่าง คือ จำนวนผู้ป่วยที่ให้บริการตามเกณฑ์ที่กำหนดทั้งหมด 435 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ มกราคม 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2564
ระบบการจ่ายยาแนวใหม่คือ คีย์ยา จัดยา เช็คยา เตรียมลงพื้นที่ เภสัชกรจ่ายยา เก็บปัญหาจากการใช้ยาโดยใช้แบบบันทึกมาตรฐานและแบบสัมภาษณ์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรมตรวจสอบยาเดิม ทอนยา พยาบาลซักประวัติ สอบถามอาการ พนักงานบริการประสาน ขับรถนำทาง เภสัชกรส่งต่อข้อมูลปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยให้แพทย์ได้รับทราบ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 435 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 65.06 อายุเฉลี่ย 68 ปี สิทธิในการรักษาเบิกจ่ายตรงมากที่สุด ร้อยละ 40.22 มีโรคประจำตัวรวม 3 โรคมากที่สุด ร้อยละ 45.06 มีมูลค่ายาเหลือ 13,600 บาท รายการยาคงเหลือ 3 อันดับแรก ได้แก่ Simvastatin tab 20mg, Amlodipine tab 5mg และ Metformin tab 500mg ตามลำดับ ยาที่เหลือทั้งหมดจะทำการทดยาและนำยาใหม่คืนมาใช้ พบปัญหาจากการใช้ยา 178 ราย มากที่สุด คือปัญหายาเหลือในผู้ป่วย ร้อยละ 64.04 ลืมรับประทานยา ร้อยละ 12.92 ตั้งใจปรับยาเอง ร้อยละ 5.62 เกิดผลข้างเคียงจากยาหรือเข้าใจวิธีการรับประทานยาคลาดเคลื่อน ร้อยละ 3.37 ผลการประเมินความพึงพอใจผู้ป่วยที่ได้รับบริการ ร้อยละ 76.09 ต้องการให้มีการจ่ายยาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านโดยเภสัชกร ร้อยละ 23.91 ไม่แน่ใจและยังอยากไปรับยาที่โรงพยาบาล ระบบบริการรับยาลดความแออัด รูปแบบบริการใหม่ จ่ายยาที่บ้านผู้ป่วยโดยเภสัชกร ทำให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาครบถ้วน เข้าใจวิธีการใช้ยา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาได้รับการแก้ไข ลดมูลค่าการใช้ได้ยาอย่างชัดเจน และควรส่งต่อข้อมูลให้บุคคลากรทางการแพทย์ท่านอื่นได้รับทราบเพื่อการแก้ไขปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-05-02