การประเมินผลของกระบวนการ Medication Reconciliation ในตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้แต่ง

  • กฤษฎา จักรไชย -
  • ประเสริฐ ประสมรักษ์

บทคัดย่อ

          การวิจัยประเมินผลอิงวัตถุประสงค์ (objective-based evaluation) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของกระบวนการ medication reconciliation ต่อความคลาดเคลื่อนทางยา ในตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในเขตพื้นที่บริการของโรงพยาบาลพยุห์ ที่เข้ารับการรักษาในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลา 6 เดือนจำนวน 352 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบบันทึก medication reconciliation วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา

          ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 69.89 ช่วงอายุ 61 – 80 ปี  ร้อยละ 44.89 ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 43.47 ผลการประเมินความคลาดเคลื่อนทางยาสูงกว่าตัวชี้วัด โดยความคลาดเคลื่อนทางยาในระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบร้อยละ 9.94 ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบคือผู้ป่วยไม่ได้รับยาเดิมที่ควรจะได้รับ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงการสั่งใช้ยาร้อยละ 5.11 และ 3.41 ตามลำดับ ส่วนความคลาดเคลื่อนทางยาขณะจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้านหรือส่งต่อสถานพยาบาลอื่น พบสูงกว่าถึงร้อยละ 12.78 ส่วนใหญ่พบการสั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อน และผู้ป่วยไม่ได้รับยาเดิมที่ควรจะได้รับ ร้อยละ 7.10 และ 3.41 ตามลำดับ ในด้านระดับความรุนแรง พบว่า ทั้งสองขั้นตอนส่วนใหญ่เป็นระดับ B ซึ่งเป็นระดับที่ไม่อันตราย โดยเฉพาะในขั้นตอนการจำหน่าย ทำให้ระดับความรุนแรงระดับ C และ D ในขั้นตอนการจำหน่ายต่ำกว่าขั้นตอนการรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น กระบวนการ medication reconciliation ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาแต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องและควรจัดการในขั้นตอนที่พบปัญหาในสัดส่วนที่สูง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-11-09