การจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สด ณ แหล่งผลิตและจำหน่าย จังหวัดอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • ศุทธินี เหลือวงศ์ -
  • เสกสรร ขันศรีมนต์

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาสถานการณ์และวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้สด เพื่อกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยง และเพื่อศึกษาผลของกระบวนการจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สด ณ แหล่งผลิตและจำหน่าย ในจังหวัดอุดรธานี วิธีการ: การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการโดยแบ่งเป็นสองระยะ ระยะที่หนึ่ง ศึกษาสถานการณ์และวิเคราะห์ความเสี่ยง ประชุมกลุ่มสร้างกระบวนการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำหนดมาตรการลดความเสี่ยง ระยะที่สองเป็นการประเมินมาตรการจัดการความเสี่ยง จากข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ และข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกคณะกรรมการอาหารปลอดภัยจังหวัดอุดรธานี ผลการศึกษา: กำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยง 3 ด้าน คือ ด้านนโยบายและการควบคุมกำกับของคณะกรรมการอาหารปลอดภัยจังหวัดอุดรธานี ด้านสร้างภาคีเครือข่ายการพัฒนาระบบการกำกับดูแล ส่งเสริมศักยภาพผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ด้านการตรวจสอบเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ผลสถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตในผักและผลไม้สดมีแนวโน้มที่ลดลง โดยปี 2560-2564 พบเกินมาตรฐาน ร้อยละ 2.58, 2.36, 2.07, 1.06 และ 1.00 ตามลำดับ สรุปผล: จากผลการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังคงเป็นปัญหาความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ถึงแม้ว่าจะมีการตรวจเฝ้าระวังจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง การกำหนดมาตรการหลักทั้ง 3 ด้าน จะสามารถลดความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้สดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการผลักดันให้เกิดเป็นระบบความปลอดภัยควบคุมตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงแหล่งจำหน่าย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-11-09