บทเรียนการจัดการปัญหาโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • นัทธินี วัฒนวราสันติ์

บทคัดย่อ

          จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ปี พ.ศ. 2565 มีสถานีวิทยุกระจายเสียง 166 แห่ง แบ่งเป็นสถานีวิทยุชุมชน 14 แห่ง วิทยุสาธารณะ 27 แห่ง วิทยุธุรกิจ 115 แห่ง และวิทยุคลื่นหลัก 10 แห่ง ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้สถานีวิทยุหลักและสถานีวิทยุธุรกิจเท่านั้นที่สามารถโฆษณาได้ รวมเป้าหมายการเฝ้าระวัง 125 แห่ง ซึ่งการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลโฆษณาเริ่มเห็นเป็นปัญหาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 จึงได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทราบ เสนอให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ระยะเวลา 3 ปี ดำเนินการตามกรอบการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกัน 2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 3. ด้านการสร้างความตระหนักแก่สื่อมวลชน 4. ด้านการเผยแพร่ให้ความรู้       แก่ประชาชน

          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักด้านการกำกับดูแลกฎหมายได้ดำเนินการตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสถานีวิทยุ ผลจากการดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 พบว่าการดำเนินงานด้านกฎหมายเพียงด้านเดียวไม่สามารถจัดการปัญหาโฆษณาทางสถานีวิทยุได้ จึงได้จัดทำโครงการโฆษณาสีขาวเพื่อชาวเชียงใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปี  จากข้อมูลการเฝ้าระวัง ปีงบประมาณ 2561- 2565 การกระทำผิดด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ไม่ถูกต้องลดลง คิดเป็นร้อยละ 43.90 51.81  42.11 26.13 และ 10.69 ตามลำดับ  ประกอบกับการทำงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สสจ. และกสทช. ในปีพ.ศ. 2562 ทำให้เห็นว่าปัญหาการโฆษณาทางสถานีวิทยุที่ไม่ถูกต้องมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านการสร้างความรอบรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค เป็นกลไกสิ่งสำคัญที่จะเป็นเกาะป้องกันตัวเองจากการไม่หลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดหลอกลวง ซึ่งลำพังภาครัฐเองไม่สามารถเผยแพร่ความรู้เข้าถึงประชาชนในแต่ละกลุ่มวัยได้ หากขาดการเชื่อมโยงผู้ผลิตสื่อ และการเผยแพร่สื่อที่ตรงกับกลุ่มประชาชน การบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนที่เฝ้าระวัง ส่งต่อและเผยแพร่ความรู้ทำงานร่วมกับภาครัฐ การสร้างเครือข่ายสื่อวิทยุรวมตัวกันเพื่อเตือนกันเอง ผลิตสื่อและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในวงกว้างได้ ในส่วนของการสนับสนุนงบประมาณของหน่วยงานสาธารณสุขไม่ใช่ปัจจัยหลักของการทำงานร่วมกัน แต่เป็นเพราะเห็นปัญหาสังคมร่วมกันและร่วมคิดร่วมกันแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายที่มีจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ ความร่วมมือเป็นภาคีเครือข่าย   ยังสามารถหาทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานอื่นๆได้ เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นต้น การทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชนเลือกบริโภคอย่างเหมาะสม รู้เท่าทันสื่อ จึงเป็นกลไกที่จะเสริมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่ถูกต้องลดลงได้ 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-23