การพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านชำ จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้แต่ง

  • จินดาพร อุปถัมภ์ -
  • คณัฐวุฒิ หลวงเทพ
  • สิรีธร บัวขจร

คำสำคัญ:

การเฝ้าระวัง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร้านขายของชำ

บทคัดย่อ

        การวิจัยและพัฒนา (R&D) นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวัง และศึกษาสถานการณ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสมในร้านชำ จังหวัดศรีสะเกษ การศึกษานี้ประกอบด้วยการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)และขั้นตอนการพัฒนาและขยายผล รวม 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ขั้นตอนการวางแผน ศึกษาข้อมูล รูปแบบ เครือข่าย และพัฒนาเครื่องมือการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านชำ ระยะที่ 2 ขั้นตอนการปฏิบัติ ใช้เครื่องมือที่พัฒนาสำรวจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านชำทุกแห่งให้ครอบคลุม โดยเครือข่ายทุกภาคส่วน ระยะที่ 3 ขั้นตอนการสังเกต โดยศึกษาอุบัติการณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสมในร้านชำ จากผลการสำรวจด้วยเครื่องมือที่พัฒนา ระยะที่ 4 ขั้นตอนการสะท้อนกลับ ประมวลผลสถานการณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสมในร้านชำและคืนข้อมูลสู่พื้นที่ทุกระดับ ระยะที่ 5 ขั้นตอนการพัฒนาและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น
           ผลการศึกษาพบว่า ได้รูปแบบการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านชำจังหวัดศรีสะเกษที่พัฒนาขึ้น คือ การใช้เครื่องมือการเฝ้าระวังแบบออนไลน์ “ร้านชำ GIS” หรือ “หอมแดง Project” ที่ใช้ Google form เป็นข้อคำถามในการสำรวจโดยเครือข่ายทุกภาคส่วน ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาจัดลำดับความเสี่ยงตามระดับความปลอดภัย 3 ระดับ ด้วย Google sheet แปรผลเป็น 1) ร้านชำสีเขียว (ปลอดภัย) 2) ร้านชำสีเหลือง (ปานกลาง) 3) ร้านชำสีแดง (ไม่ปลอดภัย) และแสดงผลแบบ Real Time ใน Google data studio พร้อมพิกัดร้านชำ ซึ่งจากการสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 9,305 แห่ง จาก 22 อำเภอ มีร้านชำสีเขียว สีเหลือง และสีแดง คิดเป็นร้อยละ 58.49, 24.15% และ 17.36 ตามลำดับ ซึ่งร้านชำสีแดงที่ไม่ปลอดภัยแยกเป็นรายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา ความรู้เรื่องบุหรี่สุรา และผลิตภัณฑ์อาหาร คิดเป็นร้อยละ 14.53, 2.55 และ 1.07 ตามลำดับ จากการผลงานวิจัยครั้งนี้พบว่าการจัดการปัญหายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสม ในชุมชนอย่างยั่งยืนควรมีการพัฒนาศักยภาพชุมชนแก่ภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่าย มีการหาแนววิธีปฏิบัติที่ดีหรือนวัตกรรมในการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ รวมถึงสามารถนำไปขยายผลใช้กับชุมชนที่มีปัญหาและบริบทคล้ายคลึงกันได้ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-23