กิจกรรมและผลการดำเนินกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุในชุมชนเมือง: กรณีศึกษา

Main Article Content

Noppawan Piaseu
Chonnipat Prasertpan
Suchinda Jarupat Maruo
Kamonrat Kittipimpanon

Abstract

บทคัดย่อ: การศึกษาเชิงบรรยายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากิจกรรมและผลการดำเนินกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ได้แก่ ความพึงพอใจ ภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างคือ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จำนวน 41 คน ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุซอยสวนเงินกรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากแบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก การตรวจร่างกายและการสังเกตกิจกรรมต่างๆภายในชมรมผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติบรรยาย และวิเคราะห์เนื้อหาสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ

ผลการศึกษาพบว่า สมาชิกชมรมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.9) เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 67.4 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด (ร้อยละ 46.3) สถานภาพสมรสคู่ (ร้อยละ 63.4) มากกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพ (ร้อยละ 56.1) มีรายได้รวมเบี้ยผู้สูงอายุต่อเดือนระหว่าง 2,501-5,000 บาท ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีโรคประจำตัว (ร้อยละ 85.4) โดยมีไขมันในเลือดสูง (ร้อยละ 56.1) มียารับประทานประจำ (ร้อยละ 80.5) ระยะเวลาเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุเฉลี่ย 35.7 เดือน สมาชิกมีความพึงพอใจต่อการดำเนินกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 95.2) ภาวะสุขภาพส่วนใหญ่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (ร้อยละ 68.3) ความดันโลหิตซิสโตลิกสูง (ร้อยละ 80.5) และดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ (ร้อยละ 48.8) มีเพียงความดันโลหิตไดแอสโตลิกเท่านั้นที่ส่วนใหญ่ปกติ (ร้อยละ 61.0) เกือบครึ่งหนึ่งรับรู้ภาวะสุขภาพดี (ร้อยละ 43.9) และส่วนใหญ่ไม่มีภาวะซึมเศร้า (ร้อยละ 61.0) สำหรับกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมเชิงสังคม (ประชุมประจำเดือน กิจกรรมในวันสำคัญ) และกิจกรรมเชิงสุขภาพ (ตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย การเยี่ยมบ้าน) โดยความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ชุมชนและทีมสุขภาพ สำหรับปัญหาอุปสรรค เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ด้านครอบครัว ด้านการบริหารจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านวัสดุอุปกรณ์

ผลการศึกษามีข้อเสนอแนะต่อพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ดังนี้ 1) การประเมิน ติดตามภาวะสุขภาพทั้งด้านร่างกาย ได้แก่ การประเมินระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และดัชนีมวลกาย 2) การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต 3) บูรณาการระบบบริการเชิงสังคมและเชิงสุขภาพและ 4) การศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในชุมชน

คำสำคัญ: กิจกรรม / ผลการดำเนินกิจกรรม / ชมรมผู้สูงอายุ / ชุมชนเมือง

Article Details

How to Cite
1.
Piaseu N, Prasertpan C, Maruo SJ, Kittipimpanon K. กิจกรรมและผลการดำเนินกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุในชุมชนเมือง: กรณีศึกษา. Nurs Res Inno J [Internet]. 2015 Feb. 6 [cited 2024 Nov. 20];20(3):388-400. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/RNJ/article/view/13940
Section
บทความวิจัย