วิถีชีวิตคนเมืองวัยทำงานที่มีผลต่อภาวะอ้วนลงพุง: กรณีศึกษาบุคลากร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และนำเสนอแนะแนวทางในการลดการเกิดภาวะอ้วนลงพุงในบุคลากรคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะอ้วนลงพุง ประชากรกลุ่มวัยทำงานในเขตเมือง คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรที่เข้ารับการตรวจสุขภาพปี 2560 จำนวน 351 คน แบ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ 177 คน เชี่ยวชาญเฉพาะ 31 คน และสนับสนุนทั่วไป 143 คน สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ สถิติร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเฉลี่ย สถิติ Chi – square และ Logistic regression
ผลการวิจัย: ปัจจัยนำลักษณะข้อมูลทั่วไปที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วนลงพุง คือ เพศ มีความสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วนลงพุง (P<0.01) พบว่า เพศหญิง มีโอกาสเกิดภาวะอ้วนลงพุง 2.12 เท่า (95% CI : 1.23-3.51) และสถานภาพการสมรสมีความสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วนลงพุง (P=0.027) อีกทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่มีภาวะอ้วนลงพุงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) รวมทั้งปัจจัยเอื้อ ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม (เฉลี่ยต่อมื้อ) มีความสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วนลงพุง (P=0.035) และปัจจัยเสริมที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วนลงพุง คือ สมาชิกในครอบครัวมีคนอ้วน (P=0.005)
สรุป:
1. ความชุกของภาวะอ้วนลงพุง เป็นเพศหญิง อายุ 55 ปีขึ้นไป ระดับการศึกษาสูงสุดปริญญาตรี เป็นกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ มีรายได้ 10,000-20,000 บาท สถานภาพโสด ชอบทานอาหารรสหวาน
2. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วนลงพุง ปัจจัยนำที่มีความสัมพันธ์กับภาวะอ้วนลงพุง 2 ปัจจัย คือเพศ สถานภาพสมรส ปัจจัยเอื้อที่มีความสัมพันธ์กับภาวะอ้วนลงพุง 1 ปัจจัย คือ ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเครื่องดื่ม (เฉลี่ยต่อมื้อ) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วนลงพุง 1 ปัจจัย คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกอ้วนจะทำให้อ้วนด้วย
3. กระบวนการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเพื่อลดภาวะอ้วนลงพุงของคนในชุมชนเขตเมือง ต้องดำเนินงานแก้ไขตามกรอบแนวคิดในการสร้างรูปแบบที่เหมาะสม เน้นปัจจัยนำด้านความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ส่งเสริมและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะอ้วนลงพุง โดยการจัดการรูปแบบการให้ความรู้การจัดการตนเอง (self-management education) การใช้หลายวิธีร่วมกัน (multi-strategy)