การประเมินผลการส่งเสริมสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุในเขตเมือง
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินโครงการการส่งเสริมสุขภาพโดยชมรมผู้สูงอายุ ศึกษารูปแบบการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุ และเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุ โดยใช้การประเมินโครงการรูปแบบ CIPP model เป็นแนวทางในการประเมิน เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรที่ศึกษาแบบเจาะจง 3 กลุ่ม คือ คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุชุมชนเรวดี โซน 1 จำนวน 11 คน ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุ จำนวน 60 คน และญาติของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 56 คนเก็บข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม
ผลการวิจัย: การส่งเสริมสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุ 1) ด้านบริบท มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชน มีสถานที่ตั้งที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้สูงอายุและประชาชนในชุมชนได้ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความต้องการ ความคาดหวังด้านสุขภาพ มากที่สุด 2) ด้านปัจจัยนำเข้า ปัจจัยที่ช่วยในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น บุคลากร มีความรู้ ความสามารถงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงานมีเพียงพอ มีโครงสร้างกรรมการ ที่ชัดเจนเป็นไปตามข้อกำหนดของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย 3) ด้านกระบวนการ มีการประชาสัมพันธ์ ที่ทั่วถึงและทันเวลา กิจกรรมส่วนใหญ่กำหนดมาจากเจ้าหน้าที่ศูนย์สาธารณสุข 4 มีการติดตามและวัดผล หลังจัดกิจกรรม 4) ด้านผลผลิต ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันได้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ ดี ผู้สูงอายุและญาติพึงพอใจต่อชมรมผู้สูงอายุและไม่มีปัญหาด้านการเงิน รูปแบบการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุมีกิจกรรมหลัก 3 รูปแบบ คือ กิจกรรมทางสังคม กิจกรรม ด้านสุขภาพกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
สรุป: ควรสนับสนุน ส่งเสริมให้มีชมรมผู้สูงอายุเนื่องจากผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันได้ดีขึ้น