ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปวดหลังส่วนล่าง ของบุคลากรสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
ปวดหลังส่วนล่าง, ความเสี่ยงทางการยศาสตร์, บุคลากรสาธารณสุขบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปวดหลังส่วนล่างของบุคลากรสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 135 คน ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และแบบประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์โดยใช้เทคนิค Rapid Office Strain Assessment (ROSA) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Multiple Logistic Regression ที่ระดับ 0.05 นำเสนอค่า Adjusted Odds Ratio พร้อมช่วงเชื่อมั่น 95% Confidence Interval (CI) และ p-value
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 75.56 อายุเฉลี่ย 43.30 ปี (S.D.=10.12) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 53.33 ประสบการณ์ทำงาน 10 ปีขึ้นไป ร้อยละ 55.56 ความชุกของการปวดหลังส่วนล่าง ร้อยละ 54.07 (95%CI = 45.52–62.39) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปวดหลังส่วนล่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 ได้แก่ (1) การทำงานกับคอมพิวเตอร์เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน (Adjusted OR=2.45, 95%CI: 1.10- 5.95; p-value=0.047) (2) การนั่งหลังค่อม (Adjusted OR=2.87, 95%CI: 1.24–6.58; p-value=0.013) (3) ความเสี่ยงทางการยศาสตร์ (Adjusted OR=3.88, 95%CI: 1.10-13.97; p-value=0.038) และ (4) ความเครียด (Adjusted OR=3.10, 95%CI: 1.27-7.35; p-value=0.012) บุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ปวดหลังส่วนล่าง ดังนั้น ควรปรับปรุงทั้งด้านพฤติกรรมเสี่ยงในการทำงานและออกแบบสถานีงานของบุคลากรให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์เพื่อป้องกันการปวดหลังส่วนล่างจากการทำงาน ต่อไป