การผลิตน้ำส้มควันไม้จากเปลือกหมาก

ผู้แต่ง

  • บุศรา ศรีชัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ภิญญาภัชญ์ ดุงโคกกรวด คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ศิริรัตน์ ดีศีลธรรม คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คำสำคัญ:

น้ำส้มควันไม้, เปลือกหมาก, การทำให้น้ำส้มควันไม้บริสุทธิ์

บทคัดย่อ

ปัญหาเศษเปลือกหมากเหลือทิ้งจากการทำหมากแห้ง เป็นมูลฝอยอินทรีย์ที่สะสมหมักหมมไว้รอบบริเวณบ้าน หรือพื้นที่ทางการเกษตร กลายเป็นของเสียที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเปลือกหมากมาใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำส้มควันไม้ โดยการเผาถ่านเปลือกหมากช่วงอุณหภูมิ (1) 301-320oC ,(2) 321-340oC และ (3) 341-360oC เก็บน้ำส้มควันไม้โดยอุณหภูมิหล่อเย็นในการควบแน่นน้ำส้มควันไม้ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง และ น้ำเย็น นำไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ 3 วิธี ได้แก่ (1) กรองด้วยกรวดและทรายร่วมกับการดูดซับด้วยธูปฤาษี (2) การเติมอากาศ-ถ่านกัมมันต์ ร่วมกับกรองด้วยกรวดและทราย เปรียบเทียบกับ (3) การทิ้งให้ตกตะกอน 90 วัน ตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมี วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาเปรียบเทียบกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และสถิติ Nonparametric Kruskal Wallis Test และ The Mann-Whitney U Test เปรียบเทียบ อัตราการผลิต คุณภาพของน้ำส้มควันไม้ ผลการศึกษา พบว่า ช่วงอุณหภูมิการผลิต และ อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น แตกต่างกัน จะทำให้ได้ปริมาณน้ำส้มควันไม้แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.027 และ 0.046) คุณลักษณะทางกายภาพของน้ำส้มควันไม้ก่อนการทำให้บริสุทธิ์ไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนน้ำส้มควันไม้ การนำไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ทุกวิธี ส่งผลให้ความถ่วงจำเพาะ และ ความส่งผ่านของแสง (%T) มากขึ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน การผลิตน้ำส้มควันไม้ดีที่สุดคือ การเผาถ่านเปลือกหมากช่วงอุณหภูมิที่ (2) และหล่อเย็นด้วยน้ำเย็น จากนั้นทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีที่ (3) ซึ่งมีความเป็นกรด-ด่าง ความถ่วงจำเพาะ ความส่งผ่านของแสง (%T) (ความใส) และ อัตราการผลิต เท่ากับ 3.96 ,1.0115, 59.8 และ 4.10 % w/v ตามลำดับ ส่วนคุณสมบัติทางกายภาพของน้ำส้มควันไม้ที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีที่ (1) และวิธีที่ (3) ไม่แตกต่างกัน คุณลักษณะทางเคมีของน้ำส้มควันไม้ พบสารประกอบ 22 ชนิด โดยพบ สารกลุ่ม Organic Acid มากที่สุด 46.85 % จากการเผาถ่านเปลือกหมากช่วงอุณหภูมิที่ (1) และ หล่อเย็นด้วยน้ำเย็น จากนั้นทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีที่ (1) ปริมาณ Acetic Acid 11.72 mg/ml และ พบสารกลุ่ม Phenol Compound มากที่สุด 63.87 % จากการเผาถ่านเปลือกหมากช่วงอุณหภูมิ (3) และหล่อเย็นด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง จากนั้นทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีที่ (2) ปริมาณ Phenol และ 11.49 mg/ml โดยสรุป การผลิตน้ำส้มควันไม้จากเปลือกหมากโดยวิธีการดังกล่าว เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น สามารถนำไปใช้แทนสารเคมีในการกำจัดเชื้อโรคในพืช เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส อย่างไรก็ตามก่อนที่จะนำไปใช้ควรนำน้ำส้มควันไม้มาเจือจางให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน

References

สำนักงานเกษตรอำเภอคอนสาร. รายงานสรุปข้อมูลการผลิตพืชอำเภอคอนสาร ชัยภูมิ;2558.

ศูนย์ระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ปี 2558; 2559.

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร. ผลการดําเนินงานจัดบริการอาชีวอนามัยในหนวยบริการปฐมภูมิอำเภอคอนสาร ชัยภูมิ; 2560.

ศุภลักษณ์ แป้นเพชร และสมพิศ เดชทอง. ผลของกรดควันไม้ (Pyroligneous acid) ที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัสสำหรับปราบหอยเชอรี่; 2551.

นิลุบล นุ่มสกุล. การทำน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์โดยวิธีเติมอากาศร่วมกับถ่านกัมมันต์; 2551.

วิไลจิตร ศรีจันโท. การทำให้น้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีการกรองร่วมกับการดูดซับด้วยวัสดุจากธรรมชาติ; 2555.

กิตติกร สาสุจิตต์. การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำส้มควันไม้เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ ชุมชนของศูนย์เรียนรู้ การเกษตรพอเพียงบ้านหนองไซ ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน; 2557.

ขนิษฐ ทวีการ. ถ่านไม้และน้ำส้มควันไม้; 2546.

ลือพงษ์ ลือนาม. เตาผลิตถ่าน และน้ำส้มควันไม้จากเปลือกมังคุดที่เหลือทิ้ง; 2556.

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนน้ำส้มควันไม้; 2553.

ทศพร คมกริช และ อัญชลี สวาสดิ์ธรรม. ประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้จากกระท้อน มะขามเทศ มะม่วง และลิ้นจี่ ต่อการไล่แมลงสาบอเมริกัน (Periplanetaamericana L.); 2555

พนิดา สุมาณตระกูล, จตุพร แก้วอ่อน, ปริชาติ เทพองพลากร บุญใส. การเพิ่มประสิทธิภาพเตาเผาเพื่อผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้จากไม้ ไผ่ตงลืมแล้ง; 2555.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-29