ประสิทธิผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ป่วยเบาหวาน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
คำสำคัญ:
การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด, ทฤษฎีแรงจูงใจในการป้องกันโรค, โรคเบาหวานบทคัดย่อ
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการทดลอง 2) เปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท และมีระดับไขมันแอลดีแอลที่เป็นอันตรายต่อร่างกายสูงกว่า 100 มก./ดล.ที่รับการรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาแส่ง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์คัดเข้า โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาแส่ง เป็นกลุ่มทดลอง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนธรรม เป็นกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มละ 30 คน เครื่องมือวิจัยมี 2 ส่วนคือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองได้แก่ กิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีแรงจูงใจในการป้องกันโรค 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม มีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 0.90 ค่าความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคของแบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับ 0.92. ใช้เวลา 12 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติการทดสอบที ผลการวิจัยพบว่าหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยของพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าก่อนการทดลองจาก 3.07 (SD = 0.226) เป็น 3.70 (SD = 0.149) และสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ย ระดับความดันโลหิตช่วงบนน้อยกว่าก่อนการทดลองจาก 152.98 (SD = 6.992) เป็น 132.25 (SD = 8.982) ระดับความดันโลหิตช่วงล่างน้อยกว่าก่อนการทดลองจาก 96.18 (SD = 3.369) เป็น 86.42 (SD = 9.795) ระดับไขมันแอลดีแอลในเลือดน้อยกว่าก่อนการทดลองจาก 126.47 (SD = 16.552) เป็น 106.33 (SD = 17.107) และ โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีก 10 ปีข้างหน้า น้อยกว่าก่อนการทดลองจาก 25.41 (SD = 8.473) เป็น 22.41 (SD = 9.250) และน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05สรุปผลการวิจัยพบว่าประสิทธิผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ถูกต้องเหมาะสม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ควรมีการติดตามประเมินผลในระยะยาวเพื่อลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่อไป
References
สำนักโรคไม่ติดต่อ. แนวทางการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2556
Kaptoge S, Pennells L, De Bacquer D, Cooney MT, Kavousi M, Stevens G, et al. World HealthOrganization cardiovascular disease risk charts: revised models to estimate risk in 21 global regions. The Lancet Global Health 2019; 7(10): e1332-45.
Arnett DK, Blumenthal RS, Albert MA, Buroker AB, Goldberger ZD, Hahn EJ, et al. 2019 ACC/AHA guideline on the primary prevention of cardiovascular disease: a report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. Circulation 2019; 140(11): e596-e646.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง. ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนได้รับการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด. สืบค้นจาก https://lpg.hdc. moph.go.th/hdc/main/index pk.php สืบค้นเมื่อ (10/3/2566).
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. Thai CV risk Score. สืบค้นจากhttps://www.rama.mahidol.ac.th/cardio vascular risk/ thai cv risk score/ สืบค้นเมื่อ(10/3/2566).
นงลักษณ์ โค้วตระกูล, พะเยาว์ ด่านปรีดา. ผลของโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนต่อความรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 วารสารกองการพยาบาล; 2563. 47(2), 119-134.
กฤติจิรา เตชะจิรา, วินัส ลีฬหกุล, ศากุล ช่างไม้. ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของบุคลากรที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรมใน โรงพยาบาลเอกชน. วารสารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์; 2562, 15(2), 15-33.
ศิริรัตน์ ผ่านภพ, นภาเพ็ญ จันทขัมมา, มุกดา หนุ่ยศรี. ผลของโปรแกรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงอำเภอเกาะคาจังหวัดลำปาง. วารสารวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ; 2563. 13(2), 528-538.
Rogers, R.W.Cognitive and physiological processes in fear appeals and attitude change: A revised theory of protection motivation. In J. Cacioppo & R. Petty (Eds.),Social Psychophysiology. New York: Guilford Press ;1983
ณชนก เอียดสุย, วริษา กันบัวลา, อาภรณ์ ดีนาน. ผลของโปรแกรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อพฤติกรรมป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและระดับไขมันในเลือดของผู้ที่มีไขมันในเลือดผิดปกติ. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา; 2564. 29 (3), 1-14
Best, John W. Research in Education.3rd ed. Englewood Cliffs,New Jersey:Prentice Hall,Inc; 1977
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. DASH Diet. สืบค้นจาก https://www.thaiheartfound.org/Article/Detail/140133 สืบค้นเมื่อ (10/3/2566).
สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป กรุงเทพฯ: ฮั่วน้ำพริ้นติ้ง; 2558
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค. การประเมินโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2558