ผลของการจัดกระทำด้านการยศาสตร์ต่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และอาการปวดหลังของคนทำงานแกะสลักไม้

Authors

  • ปิยาภรณ์ เพ็ญประไพ
  • วีระพร ศุทธากรณ์
  • ธานี แก้วธรรมานุกูล

Keywords:

การจัดกระทำด้านการยศาสตร์ ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลัง อาการปวดหลัง คนทำงานแกะสลักไม้ แรงงานนอกระบบ

Abstract

     อาการปวดหลังเนื่องจากการทำงานส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของคนทำงาน การจัดกระทำด้านการยศาสตร์มีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดกระทำด้านการยศาสตร์ต่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและอาการปวดหลังของคนทำงานแกะสลักไม้ โดยสุ่มตำบลเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดได้กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 43 ราย มีความคล้ายคลึงกันในด้านอายุ (± 2 ปี) กลุ่มทดลองได้รับการจัดกระทำด้านการยศาสตร์ประกอบด้วย การอบรมความรู้เกี่ยวกับอันตรายของท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง การปรับท่าทางการทำงาน การยืดกล้ามเนื้อ และปฏิบัติการปรับท่าทางการทำงาน ร่วมกับยืดกล้ามเนื้อเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการจัดกระทำด้านการยศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล ลักษณะและสภาพแวดล้อมการทำงาน แบบบันทึกการยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเอง แบบประเมินการทดสอบความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ แบบประเมินอาการปวดหลังแบบเป็นตัวเลข เครื่องมือวัดความยืดหยุ่น และคู่มือการให้ความรู้เรื่องการปรับท่าทางการทำงาน และการยืดกล้ามเนื้อ ที่ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบค่าที ชนิด 2 กลุ่มเป็นอิสระต่อกัน สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ และสถิตินอนพาราเมตริกส์ ได้แก่ สถิติแมนวิทนีย์ยู และสถิติทดสอบวิลคอกซัน แมทแพร์ไซแรงค์

     ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยอาการปวดหลัง น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (<.05) ในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 ส่วนการเปรียบเทียบความแตกต่างภายในกลุ่ม พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยอาการปวดหลังน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (<.05) ในสัปดาห์ที่ 6, 8 และ 12 เมื่อเปรียบเทียบระดับความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลัง พบว่า กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงระดับความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังดีกว่ากลุ่มควบคุมในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 ในขณะที่กลุ่มทดลองมีระดับความยืดหยุ่นดีกว่าก่อนการทดลองในสัปดาห์ที่ 6, 8 และ 12 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

          สรุปว่าการจัดกระทำด้านการยศาสตร์มีผลลดอาการปวดหลังและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังในคนทำงานแกะสลักไม้ ดังนั้น ควรจะมีการนำการจัดกระทำด้านการยศาสตร์ไปใช้ในกลุ่มคนทำงานเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตการทำงานดีขึ้น

Downloads

Published

2018-03-13

How to Cite

เพ็ญประไพ ป., ศุทธากรณ์ ว., & แก้วธรรมานุกูล ธ. (2018). ผลของการจัดกระทำด้านการยศาสตร์ต่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และอาการปวดหลังของคนทำงานแกะสลักไม้. Nursing Journal CMU, 44(3), 77–89. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/115322