ภาวะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแรงงานสตรีข้ามชาติ
Keywords:
ภาวะสุขภาพจิต ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แรงงานสตรีข้ามชาติAbstract
แรงงานสตรีข้ามชาติต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตได้ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายภาวะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแรงงานสตรีข้ามชาติ กลุ่มตัวอย่าง คือ แรงงานสตรีข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 130 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีบอกต่อ รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล แบบสอบถามสุขภาพทั่วไป GHQ-28 ของโกลด์เบิร์ก (Goldberg, 1972) ที่แปลเป็นภาษาไทยโดยธนา นิลชัยโกวิทย์, จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง, และชัชวาล ศิลปกิจ (2539ก) แบบสอบถามแหล่งสนับสนุนส่วนบุคคล ประเมินจากแบบสอบถามแหล่งประโยชน์ส่วนบุคคล (PRQ 2000) ส่วนที่ 2 ของ ไวเนิร์ท (Weinert, 2000) แปลเป็นภาษาไทยโดยประภาศรี ทุ่งมีผล และภัทราภรณ์ ทุ่งปันคำ (2549) และแบบประเมินการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ของสมชาย นันทวัฒนากรณ์ (2552) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์คอนติงเจนซี สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน
ผลการศึกษาพบว่า แรงงานสตรีข้ามชาติมีภาวะสุขภาพจิตปกติ ร้อยละ 50.80 และมีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 49.20 โดยในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่พบเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ อาการทางกายที่สาเหตุมาจากจิตใจ (ร้อยละ 96.90) อาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ (ร้อยละ 93.80) ความบกพร่องเชิงสังคม (ร้อยละ 81.30) และอาการซึมเศร้าที่รุนแรง (ร้อยละ23.40) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตในแรงงานสตรีข้ามชาติ ได้แก่ 1) ปัจจัยส่วนบุคคลด้านสถานภาพสมรส (rc = .413, p < .05) ระดับการศึกษา (rc = .407, p < .05) ความสามารถทางภาษาไทยด้านการฟัง
(rc = .283, p < .05) ด้านการพูด (rc = .274, p < .05) ด้านการอ่าน (rc = .527, p < .05) และด้านการเขียน (rc = .452, p < .05) อาชีพ (rc = .311, p < .05) และรายได้ (rpb = .375, p < .01) 2) การสนับสนุนทางสังคม (rc = .664, p < .05) และ 3) การเข้าถึงบริการสุขภาพ (rc = .592, p < .05)
ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพจิตในแรงงานสตรีข้ามชาติกลุ่มนี้ ข้อมูลนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้แรงงานสตรีข้ามชาติมีภาวะสุขภาพจิตที่ดี ผลการศึกษายังสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตของแรงงานสตรีข้ามชาติต่อไป
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว