ประสิทธิผลของการใช้โปรแกรมการจัดการกับความโกรธสำหรับผู้ป่วยจิตเภท: กรณีศึกษาโรงพยาบาลอุตรดิตถ์

Authors

  • วรรณวิภา ชำนาญ
  • เพชรสุนีย์ ทั้งเจริญกุล
  • สมบัติ สกุลพรรณ์

Keywords:

พฤติกรรมก้าวร้าว ผู้ป่วยจิตเภท จัดการกับความโกรธ โปรแกรมการจัดการกับความโกรธสำหรับผู้ป่วยจิตเภท

Abstract

    ผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่สามารถจัดการกับความโกรธได้อย่างเหมาะสมจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยทำอันตรายตนเองและผู้อื่น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้โปรแกรมการจัดการกับความโกรธสำหรับผู้ป่วยจิตเภทโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ตามกรอบแนวคิดการยอมรับนวัตกรรมของโรเจอร์ (Roger, 2003) กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้คือพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ทั้งหมด จำนวน 4 คน และผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการวินิจฉัยจาก DSM IV มีประวัติและการแสดงออกของพฤติกรรมก้าวร้าว จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษาคือโปรแกรมการจัดการกับความโกรธของหทัยรัตน์ ดิษฐอั๊ง (2550) ที่พัฒนามาจากแนวคิดการจัดการกับความโกรธของโนวาโค (Novaco, 1975) และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบประเมินอาการทางจิตผู้ป่วยจิตเภทฉบับภาษาไทย (Positive and Negative Syndrome Scale: PANSS-T) แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าว ที่พัฒนาขึ้นโดยหทัยรัตน์ ดิษฐอั๊ง (2550) และแบบสำรวจความคิดเห็นของพยาบาลต่อการใช้โปรแกรม ที่พัฒนาขึ้นโดยชมัยพร จันทร์ศิริ (2553)

ผลการศึกษา พบว่า ภายหลังจากที่ผู้ป่วยจิตเภทได้รับโปรแกรมการจัดการกับความโกรธเป็นระยะเวลา 5 วัน ผู้ป่วยจิตเภทมีการเรียนรู้ที่จะจัดการความโกรธด้วยตนเองได้ จึงไม่พบว่ามีผู้ป่วยรายใดแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว โดยทักษะที่ผู้ป่วยใช้ในการจัดการกับความโกรธเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวมากที่สุดคือ การหายใจเข้าออก จำนวน 13 คน รองลงมาคือ การนับในใจ จำนวน 11 คน นอกจากนี้พยาบาลวิชาชีพทุกคน มีความคิดเห็นว่าโปรแกรมการจัดการกับความโกรธมีประโยชน์ สามารถเข้ากันได้ดีกับสิ่งที่มีอยู่เดิม ไม่มีความซับซ้อน สามารถนำไปการทดลองใช้ได้ และสามารถสังเกตผลลัพธ์ของโปรแกรมได้ง่าย

     ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการจัดการกับความโกรธสำหรับผู้ป่วยจิตเภท
ที่พัฒนาขึ้นโดย หทัยรัตน์ ดิษฐอั๊ง (2550) โดยไม่ต้องมีการดัดแปลงโปรแกรมสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการดูแลผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ได้ และพยาบาลในหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์สามารถปฏิบัติได้ จึงสมควรนำเสนอผู้บริหารเพื่อรับการพิจารณา นำมาใช้ในหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ต่อไป

Downloads

Published

2018-03-13

How to Cite

ชำนาญ ว., ทั้งเจริญกุล เ., & สกุลพรรณ์ ส. (2018). ประสิทธิผลของการใช้โปรแกรมการจัดการกับความโกรธสำหรับผู้ป่วยจิตเภท: กรณีศึกษาโรงพยาบาลอุตรดิตถ์. Nursing Journal CMU, 44(3), 125–133. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/115333