Occupational Health Nursing: A challenged Role

Authors

  • วิภาดา คุณาวิกติกุล Professor, Faculty of nursing, Chiang Mai University

Keywords:

Occupational Health Nursing

Abstract

ในปัจจุบันได้มีการตระหนักถึงความสำคัญด้านอาชีวอนามัยเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากมีผู้ที่ทำงานในลักษณะต่าง ๆ ในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นสุขภาพอนามัยในการประกอบอาชีพของประชาชนวัยทำงาน ในชุมชนและสังคมทั่วไป จึงถือว่ามีความสำคัญยิ่ง องค์การอนามัยโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ให้คำนิยามของงานอาชีวอนามัยว่าเป็นงานที่มีทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะผิดปกติและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน รวมทั้งการทำให้เกิดการคงอยู่และการมีสุขภาพที่ดี ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนมีความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมด้วย (International Labour Office, 2000; WHO, 2009)  ซึ่งโดยทั่วไปผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายและผลกระทบจากการทำงานได้ตลอดเวลา และพบว่าผู้ทำงานเกิดความเจ็บป่วยและได้รับอันตรายจากการทำงานเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปีทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ให้การดูแลด้านนี้มีจำนวนไม่เพียงพออีกด้วย

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย พยาบาลอาชีวอนามัย นักวิทยาศาสตร์อาชีวอนามัยและความปลอดภัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ นักกายศาสตร์ วิศวกรความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น โดยในการทำงานจำเป็นต้องมีการประสานงานกันตลอดเวลาและจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลที่ดีต่อผู้ปฏิบัติงานมากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องทำงานร่วมกันในองค์กร ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคม ชมรม องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย เพื่อสามารถให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ซึ่งจะเกิดผลดีเพิ่มขึ้น

          สิ่งที่พบว่าเป็นสิ่งคุกคามต่อภาวะสุขภาพอนามัยของผู้ทำงาน อาจมาจากเสียง สารเคมี สารพิษ ตลอดจน ไอระเหย สารละออง ซึ่งอาจจะเข้าสู่ร่างกายได้หลายทางทั้งการหายใจ ดูดซึมทางผิวหนังหรือจากการบริโภค นอกจากนั้นยังมีสิ่งคุกคามสุขภาพอนามัย ด้านจิตสังคม อีกด้วยเช่น ในด้านสภาพแวดล้อม การทำงาน ภาระงาน ความรับผิดชอบ ตลอดจนสัมพันธภาพระหว่างผู้ทำงานด้วยกัน รวมทั้งด้านความก้าวหน้าในงาน เป็นต้น นอกจากด้านร่างกายและด้านจิตใจแล้ว ยังจะต้องพิจารณาในด้านเออร์โกโนมิกส์ ซึ่งกล่าวถึงด้านกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และด้านจิตใจด้วย ซึ่งหากไม่สามารถดูแลและป้องกันอันตรายได้ ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะก่อให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อและเกิดภาวะเครียดได้

จากความจำเป็นและความสำคัญของการดูแลสุขภาพผู้ทำงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดี ดังนั้นพยาบาลอาชีวอนามัยซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาวะสุขภาพของผู้รับบริการ โดยสามารถป้องกันภาวะที่ไม่พึงประสงค์และมีผลต่อสุขภาวะของผู้ทำงาน  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้งศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในคนทำงานภาคเหนือขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 ½  ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2558 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เป็นศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในคนทำงานภาคเหนือ 2) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการทำงานของคนทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ 3) เป็นแหล่งรวมความรู้ด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านนโยบาย ด้านการปฏิบัติหรือให้บริการ และด้านการวิจัยเกี่ยวกับงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมต่อไป  5) ดำเนินการวิจัยและฝึกอบรมพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการลดปัจจัยเสี่ยงและความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้ทำงานและการฟื้นฟูสภาพจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน   

          ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่ามีลักษณะภูมิประเทศที่สามารถทำอาชีพเกษตรกรรมได้หลายพืชผล เช่น เกษตรกรปลูกข้าว ปลูกลำไย ปลูกข้าวโพด และยังมีอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น โรงงานเย็บเสื้อผ้า โรงงานเซรามิก เป็นต้น คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาสถานการณ์ในกลุ่มเกษตรกรและผู้ทำงานในโรงงาน สภาวะสุขภาพ การดูแลตนเองด้านอาชีวอนามัยขึ้นผู้ปฏิบัติงานใน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว (Kaewthummnukul, et al, 2019) กลุ่มเกษตรกรปลูกลำไย (Suthakorn, et al. 2018) กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพด (Chanprasit, et al, 2019) กลุ่มแรงงานตัดเย็บผ้า (Chanprasit, et al. 2018) และกลุ่มแรงงานเซรามิก (Songkham, 2018)

จากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อมูลการประกอบอาชีพ และศักยภาพของผู้ประกอบอาชีพในการสร้างเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงจากการทำงานในเขตพื้นที่ภาคเหนือโดยเน้นในกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มคนทำงานหัตถอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ปฏิบัติงานมีปัญหาด้านสุขภาพและมีความเสี่ยงจากการทำงาน: แรงงานส่วนใหญ่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย บางส่วนเคยได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน แรงงานส่วนหนึ่งมีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เกินกว่าเกณฑ์ปกติและมีภาวะอ้วน รวมทั้งมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง การสัมผัสปัจจัยคุกคามสุขภาพจากสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยที่พบในสัดส่วนสูง: ทำงานกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความคมและใช้ไฟฟ้า ทำงานกับเครื่องมือเครื่องจักรที่มีความคม ที่ทำงานเปียกลื่น นอกจากนั้น ในด้านแบบแผนการดำรงชีวิตนั้น ยังพบว่าผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพเป็นบางครั้งหรือไม่ปฏิบัติเลย ผลที่ได้จากการศึกษาสถานการณ์ครั้งนี้ ทำให้คณะผู้วิจัยได้แนวทางในการศึกษาในระยะต่อไป โดยการดำเนินการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติติงานกับนักวิจัย ที่เรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research, PAR)  เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพและการลดภาวะเสี่ยงจากการทำงานในแรงงานหัตถอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม” โดยเป็นโครงการวิจัยที่พัฒนาจากผลการวิจัยเรื่อง สถานการณ์ด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มแรงงานเกษตรกรรมและหัตถอุตสาหกรรมใน 3 กลุ่มอาชีพ คือ 1) กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว 2) กลุ่มแรงงานตัดเย็บผ้า และ 3) กลุ่มแรงงานเซรามิก

          ผลการดำเนินการจาก ผู้ปฏิบัติงานทั้ง 3 กลุ่มได้องค์ความรู้แนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดปัญหาสุขภาพจากการทำงานโดยการมีส่วนร่วมในการดำเนินการและการให้ข้อเสนอร่วมกันในการปฏิบัติตนให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจในทั้ง 3 กลุ่มอาชีพ นอกจากนั้นยังได้คู่มือ หลักสูตรที่ใช้พัฒนาพยาบาลและผู้ปฎิบัติงาน รับผิดชอบงานด้านอาชีวอนามัย ตลอดจนนักศึกษารวมทั้งสื่อที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ แนวปฏิบัติต่างๆ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่างๆเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีต่อไป นอกจากนั้นยังมีบทความทางวิชาการเผยแพร่ทั้งภายในและในระดับนานาชาติอีกด้วย ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติที่ดีของผู้ทำงานทั้ง 3 กลุ่ม เกิดจากการให้ข้อเสนอแนะของกลุ่มกับนักวิจัย โดยที่บทบาทของพยาบาลอาชีวอนามัยนั้นนับว่ามีความท้าทายในการปฏิบัติงานไม่น้อย ในการที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกลักษณะขององค์กรหรือชุมชน เกิดภาวะสุขภาพที่ดีต่อไป ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม จิตวิญญาณ มีสภาพการทำงานที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง

          ดังนั้นบทบาทหลักของพยาบาลอาชีวอนามัยจึงมีความสำคัญยิ่งในหน้าที่ทั้งการวางแผน การบริหารจัดการ การดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านการสร้างเสริม การรักษาพยาบาลและการป้องกันและการฟื้นฟูสุขภาพทั้งด้านการให้ความรู้แก่ประชาชน ผู้บริหาร ให้คำปรึกษา ให้การสอน การให้บริการโดยตรง ต้องมีคุณภาพศึกษาวิจัยสถานการณ์เพิ่มเติมและติดตาม ประเมิน และการทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ในการป้องกัน ดูแล รวมทั้งการประสานงานกับทีมสุขภาพอื่นๆ เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะบูรณาการและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ปฏิบัติงานต่อไป  การดำเนินการของศูนย์สร้างเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคเหนือ ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์ที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริม การสร้างเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคเหนือและของประเทศต่อไป โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาชีวอนามัย ผ่านการวิจัย ผสมผสานกับการบริการวิชาการและการเรียนการสอนอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับงานด้านอาชีวอนามัยมากขึ้น โดยกำหนดให้สถานประกอบการต้องมีพยาบาลประจำอย่างน้อย 1 คนต่อจำนวนลูกจ้าง 200 คน และเพิ่มอีก 1 คนต่อจำนวนลูกจ้างทุก 1,000 คน โดยมีเวลาทำการปกติของแต่ละคนไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง และกำหนดคุณสมบัติของพยาบาลคือ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาพยาบาลอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่าหรือผ่านการอบรมอย่างน้อย 60 ชั่วโมงหรือเคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัยอย่างน้อย 1 ปีและผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือเป็นพยาบาลที่สำเร็จหลักสูตร 2 ปีและเคยปฏิบัติงานด้านอาชีวอนามัยไม่น้อยกว่า 5 ปีและผ่านการทดสอบตามเกณฑ์มาแล้ว ซึ่งประกาศนี้ควรได้รับการทบทวนเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของการผลิตพยาบาลและสังคมปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงานที่เป็นแรงงานนอกระบบประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากประกาศที่มีอยู่ นอกจากนั้นการจัดการศึกษาปริญญาตรีพยาบาลของประเทศในปัจจุบัน ไม่มีสาขาพยาบาลอาชีวอนามัย และได้ยกเลิกการผลิตพยาบาลระดับต้นหลักสูตร 2 ปีแล้ว จึงควรพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าวและเพิ่มเติมผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทด้วยในสภาพการณ์ที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ ความสามารถสูงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้การบริการที่มีคุณภาพแก่ผู้รับบริการต่อไปด้วย

References

Chanprasit C., Jongrungrotsakul W., Kaewthummanukul T., Songkham W., (2018). Situation of occupational and environmental health among garment workers:An analysis of community enterprise. Thai Journal of Nursing Council. 33(1), 61-73. (In Thai)
Chanprasit C., Jongrungrotsakul W., Kaewthummanukul T.,Wisutthananon. (2019). Situational analysis of occupational and environmental health among corn planting farmer group. Nursing Journal, 46 (1), In Process. (In Thai)
Kaewthummanukul, T.,Suthakorn, W. Tantranont, K. (2019). Situational analysis of occupational and environmental health among rice planting farmer group: Health status and work behavior. Nursing Journal, 46 (1), In Process. (In Thai)
Songkham W., Chanprasit C., ongrungrotsaku W., Kaewthummanukul T., (2018). Occupational and environmental health situation among ceramic workers: Analysis in community and small enterprises. Nursing Journal, 45(4), 97-110. (In Thai)
Suthakorn W., Kaewthummanukul T., Tantranon K.,(2018). Occupational health hazards among longan growers. Nursing Journal, 45(2), 135-147 (In Thai)
International Labour Office. Safety and health in agriculture. [Internet]. 2000 [cited May 2,
2018] Available from: http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---ed_protect/---protrav/---safework/documents/publication/wcms_110193.pdf
World Health Organization. Workers’ health: global plan of action Sixtieth World Health Assembly (2009). Available from: https://www.who.int/occupational_health/WHO_health_assembly_en_web.pdf?ua=1

Downloads

Published

2019-03-28

How to Cite

คุณาวิกติกุล ว. (2019). Occupational Health Nursing: A challenged Role. Nursing Journal CMU, 46(1), 1–4. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/180601

Issue

Section

Special Article