การพัฒนาโปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้พรีซีด-โพรซีด โมเดล

Authors

  • สุภาภรณ์ ปวนสุรินทร์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเจริญราษฎร์
  • สุมาลี เลิศมัลลิกาพร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • จิตตาภรณ์ จิตรีเชื้อ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

โปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่, ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่, ทักษะการปฏิเสธการสูบบุหรี่พรีซีด-โพรซีด โมเดล, นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น

Abstract

          การสูบบุหรี่ในช่วงวัยรุ่นสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพของผู้สูบเป็นอย่างมาก ดังนั้นการป้องกันการสูบที่เหมาะสมในวัยรุ่นจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพได้ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้พรีซีด-โพรซีด โมเดล และศึกษาผลของโปรแกรมต่อการรับรู้และทักษะการปฏิเสธการสูบบุหรี่ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพัฒนาโปรแกรม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รวม 16 คน และกลุ่มผู้เข้าร่วมโปรแกรม คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 24 คนที่กำลังศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงราย ระยะเวลาการดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบวัดความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ และแบบวัดทักษะการปฏิเสธการสูบบุหรี่วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และทดสอบค่าทีสองกลุ่มสัมพันธ์กัน

          โปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถูกพัฒนาขึ้นตามแนวคิดพรีซีด-โพรซีด โมเดล การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 การประเมินและวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระยะที่ 2 การปฏิบัติและการประเมินผล โดยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 6 กิจกรรม คือ 1) การจัดอบรมเรื่องการป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 2) การจัดตั้งชมรมเพื่อรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 3) การจัดบอร์ดให้ความรู้ในห้องเรียน 4) การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการสูบบุหรี่ภายในบริเวณโรงเรียน 5) การจัดตั้งมุมสนับสนุนวิชาการความรู้เกี่ยวกับบุหรี่และทักษะปฏิเสธการสูบบุหรี่ และ 6) การจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางเสียงตามสายในโรงเรียน ผลการวิจัยพบว่า คะแนนความรู้เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของกลุ่มตัวอย่างระหว่างก่อนและหลังดำเนินโปรแกรม แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และคะแนนทักษะการปฏิเสธเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของกลุ่มตัวอย่างระหว่างก่อนและหลังดำเนินโปรแกรม แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001

          ผลการวิจัยครั้งนี้แสงดให้เห็นว่า โปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ พรีซีด-โพรซีด โมเดลนี้สามารถเพิ่มความรู้และทักษะปฏิเสธการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นได้ ดังนั้น ควรมีการนำโปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่ที่พัฒนาขึ้นนี้ประยุกต์ใช้กับวัยรุ่นในสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป

Downloads

Published

2013-06-30

How to Cite

ปวนสุรินทร์ ส., เลิศมัลลิกาพร ส., & จิตรีเชื้อ จ. (2013). การพัฒนาโปรแกรมการป้องกันการสูบบุหรี่ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้พรีซีด-โพรซีด โมเดล. Nursing Journal CMU, 40(2), 26–37. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/33055