การพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน

Authors

  • รัชนก ใจเชิดชู ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก
  • นงเยาว์ อุดมวงศ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วราภรณ์ บุญเชียง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

การพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพ, การมีส่วนร่วมของชุมชน, นักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน

Abstract

          ภาวะน้ำหนักเกินในเด็กวัยเรียนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจาก การมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการอกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัย เชิงพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมและศึกษาผลของโปรแกรม การส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการออกกำลังกาย กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ให้ข้อมูลเพื่อวินิจฉัยปัญหา จำนวน 24 คน และผู้พัฒนาโปรแกรม จำนวน 12 คน ได้แก่ นักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จำนวน 30 คน ที่กำลังศึกษาในโรงเรียนประถมในจังหวัดพิษณุโลก ระยะเวลาดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึง สิงหาคม พ.ศ.2554 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแนวคำถามสัมภาษณ์กลุ่ม แบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และแบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกาย วิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที

 ผลการวิจัย พบว่า

           โปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิด พรีซีด-โพรซีดโมเดล (PRECEED-PROCEED model) ประกอบด้วย 5 แผนกิจกรรม คือ 1) การสอนด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย 2) การปรับพฤติกรรม 3) การใช้แรงสนับสนุนทางสังคมจากผู้ปกครอง ครู และเพื่อน 4) การจัดการด้านอาหารและการออกกำลังกาย และ 5) การจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งผลของการนำโปรแกรมไปใช้ พบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หลังเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 และคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการออกกำลังกาย หลังเข้าร่วมโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001

          ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้แนวคิด พรีซีด-โพรซีด โมเดล (PRECEED-PROCEED model) นั้นมีผลทีให้นักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายดีขึ้น ดังนั้นควรมีการนำโปรแกรมนี้ไประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมน้ำหนักในนักเรียนทีมีภาวะน้ำหนักเกินต่อไป

Downloads

Published

2013-06-30

How to Cite

ใจเชิดชู ร., อุดมวงศ์ น., & บุญเชียง ว. (2013). การพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน. Nursing Journal CMU, 40(2), 64–76. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/33058