ผลของการส่งเสริมการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมสุขภาพ และอาการเจ็บอก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
Keywords:
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, การจัดการตนเอง, พฤติกรรมสุขภาพ, อาการเจ็บอกAbstract
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง การปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและสม่ำเสมอจะช่วยลดอาการเจ็บอกที่เป็นอาการแสดงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำ การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการส่งเสริมการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมสุขภาพและอาการเจ็บอกในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่มารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 36 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 18 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง กลุ่มทดลองได้รับความรู้เกี่ยวกับโรค การรักษาและการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมร่วมกับกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการจัดการตนเองจำนวน 5 ครั้ง และการติดตามทางโทรศัพท์ 3 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการส่งเสริมการจัดการตนเองในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย 2) แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และ 3) แบบประเมินสภาวะอาการเจ็บอก ซึ่งเครื่องมือวิจัยได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือก่อนนำไปใช้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติทดสอบทีที่เป็นอิสระต่อกัน สถิติทดสอบค่าทีไคสแควร์ และสถิติทดสอบแมนวิทนีย์
ผลการวิจัย พบว่า
กลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<0.01) สำหรับสัดส่วนความถี่ของการเกิดอาการเจ็บอก ระยะเวลาการเกิดอาการเจ็บอกและการจัดการกับอาการเจ็บอกทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่พบว่าความรุนแรงของอาการเจ็บอกของกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมการจัดการตนเองทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายมีพฤติกรรมสุขภาพดีขึ้นและมีความรุนแรงของอาการเจ็บอกลดลง ดังนั้นควรนำกิจกรรมการดูแลนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการดูแล และการศึกษาครั้งต่อไปควรศึกษาการส่งเสริมการจัดการอาการในระยะเวลาที่นานขึ้น เพื่อลดความถี่และระยะเวลาในการเกิดอาการเจ็บอก
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว