เด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

Authors

  • กาญจนา กันทาหงษ์

Keywords:

การมีส่วนร่วม, บิดามารดา, เด็ก, การป่วยเฉียบพลัน, การรักษาในโรงพยาบาล

Abstract

               การเจ็บป่วยเฉียบพลันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า5ปี ซึ่งบิดามารดาควรมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กป่วยในโรงพยาบาล การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอำนาจการทำนายของการสนับสนุนจากพยาบาล  สมรรถนะแห่งตนของบิดามารดา  ประสบการณ์ในการดูแลเด็กป่วยของบิดามารดา  และความรุนแรงของโรคตามการรับรู้ของบิดามารดาต่อการมีส่วนร่วมของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของเชปป์ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมเป็นกรอบในการศึกษา เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด คือ บิดามารดาของเด็กป่วยเฉียบพลันอายุ 1 เดือนถึง 5 ปีจำนวน 104 รายที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรมโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศูนย์ลำปางและโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก  ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย  แบบประเมินการมีส่วนร่วมของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยในโรงพยาบาลของเชปป์ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยณิชกานต์ ไชยชนะและคณะ (2546)  แบบประเมินการสนับสนุนจากพยาบาลของบิดามารดา  พัฒนาโดยไมลส์และคณะ (Mile et al.,1999) ซึ่งผู้วิจัยแปลเป็นภาษาไทยด้วย วิธีแปลย้อนกลับ แบบประเมินความสามารถของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของแสงตะวัน บุญรอด (2553) และแบบสอบถามความรุนแรงของความเจ็บป่วยของเด็ก ป่วยตามการรับรู้ของบิดามารดาของไกรวรร กาพันธ์  และคณะ  (2553) โดยแบบประเมินการมีส่วนร่วมของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แบบประเมินการสนับสนุนจากพยาบาลของบิดามารดา  และแบบประเมินความสามารถของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  มีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค  เท่ากับ .91  .96 และ .91 ตามลำดับ  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน  ผลการศึกษา มีดังนี้

               1. สมรรถนะแห่งตนของบิดามารดาสามารถทำนายการมีส่วนร่วมของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้  ร้อยละ  30.2 (R2 = .302, p<.001)

                  2. การสนับสนุนจากพยาบาล  ประสบการณ์ในการดูแลเด็กป่วยของบิดามารดาและความรุนแรงของโรคตามการรับรู้ของบิดามารดา  ไม่สามารถทำนายการมีส่วนร่วมของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

                 ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของสมรรถนะแห่งตนของบิดามารดาต่อการมีส่วนร่วมของบิดามารดาในการดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีการเสริมสร้างสมรรถนะแห่งตนของบิดามารดาในการมีส่วนร่วมดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป

Downloads

Published

2015-09-30

How to Cite

กันทาหงษ์ ก. (2015). เด็กป่วยเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล. Nursing Journal CMU, 42(3), 1–12. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/43416