ปัจจัยทำนายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาล เขตภาคเหนือ
Keywords:
ปัจจัยทำนาย, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, พยาบาลวิชาชีพ, โรงพยาบาลเขตภาคเหนือAbstract
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพเป็นการกระทำที่เกิดจากความตระหนักรู้ในการพยายามที่จะมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ และนโยบายสาธารณะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อวิชาชีพ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงหาปัจจัยทำนายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลเขตภาคเหนือของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพจำนวน 395 คน จาก 37 โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ เขตภาคเหนือ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้รับการพัฒนาโดยผู้วิจัยตามแนวคิดของเวอร์บา และคณะ (Verba et al. ,1995)ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพ และแบบสอบถามปัจจัยทำนายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพ ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาของเครื่องมือทั้งสองเท่ากับ .97 และ 1.00 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .88 และ .85 ตามลำดับ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน
ผลการวิจัย พบว่า
1.การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ โดยพยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมืองด้านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอยู่ในระดับสูง ด้านการรณรงค์หาเสียงอยู่ในระดับปานกลางด้านการเข้าร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองด้านการให้เงินสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ด้านการติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านการประท้วง ด้านการเป็นคณะกรรมการชุมชนและด้านการทำงานด้านกิจกรรมชุมชนอย่างไม่เป็นทางการอยู่ในระดับไม่มีส่วนร่วม หรือมีส่วนร่วมอยู่ในระดับต่ำมาก
2.ปัจจัยที่สามารถทำนายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพ ได้แก่ ปัจจัยด้านความเอาใจใส่ปัจจัยด้านเครือข่ายการสรรหา และปัจจัยด้านทรัพยากร (β เท่ากับ 0.30, 0.28, และ 0.17, p <.001)
ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้บริหารการพยาบาล สถาบันการศึกษาพยาบาล สภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย และพยาบาลวิชาชีพผู้ปฏิบัติงาน เกี่ยวกับวิธีการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพยาบาลวิชาชีพ
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว