การพัฒนาโปรแกรมดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
Keywords:
การพัฒนาโปรแกรมการดูแล, ผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม, การมีส่วนร่วมของชุมชนAbstract
ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ การดูแลที่เหมาะสมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนจะช่วยให้ผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และศึกษาผลของโปรแกรมต่อสมรรถภาพทางกายและอาการปวดข้อเข่าของผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมในชุมชน กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพัฒนาโปรแกรม ประกอบด้วย ตัวแทนผู้สูงอายุ ผู้ดูแล พยาบาลวิชาชีพอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน แกนนำในชุมชน เจ้าหน้าที่เทศบาล แพทย์ และนักกายภาพบำบัด รวม 86 คน และกลุ่มผู้เข้าร่วมโปรแกรมคือ ผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม จำนวน 212 ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนมกราคม 2555 - กันยายน 2556เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แนวคำถามปัญหาสถานการณ์และความต้องการการดูแล แนวคำถามทุนทางสังคมแบบทดสอบการเดิน 6 นาที ส่วนแบบคัดกรองโรคข้อเข่าเสื่อม และแบบประเมินอาการข้อเข่าเสื่อมทดสอบความเชื่อมั่นคูเดอร์-ริชาร์ดสัน (KR-20) ได้เท่ากับ 0.82 และสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่น(Chronbach’s α) เท่ากับ 0.87 ตามลำดับข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ข้อมูลเขิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และ dependent -test
โปรแกรมดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนพัฒนาขึ้นตามแนวคิด PRECEDE PROCEDE model (Green & Kreuter, 2005) การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น ระยะที่ 1 การประเมินทุนทางสังคมและวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาการดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม และระยะที่ 2 การนำโปรแกรมไปใช้และการประเมินผลโปรแกรมที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นประกอบด้วย 1) การตรวจคัดกรองโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ 2) การจัดทำชุดความรู้ สื่อวีดีทัศน์ คู่มือโปสเตอร์ในการดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม 3) การจัดอบรมการดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมในชุมชน 4) การจัดกิจกรรมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม 5) การจัดตั้งชมรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อม 6) การจัดตั้งชมรมเพื่อรณรงค์การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ผลพบว่าผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมมีสมรรถภาพทางกายเพิ่มขึ้นและมีอาการปวดข้อเข่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โปรแกรมดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมโดยพัฒนาขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายและลดอาการปวดข้อเข่าในผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมได้ ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมในชุมชนควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพ มีการดูแลอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว