นวัตกรรมการจัดการดูแลสุขภาพของชุมชน: ‘อาสาปันสุข’
Keywords:
นวัตกรรม, การจัดการดูแลสุขภาพ, การมีส่วนร่วมของชุมชน, นโยบายสาธารณะAbstract
การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชนเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและบริบทของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายชุมชนสุขภาวะ ชุมชนที่สามารถจัดการดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพแสดงให้เห็นถึงการต่อยอดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการดูแลสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และเพื่อศึกษาการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชนในการจัดการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง กลุ่มผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ตัวแทนภาคประชาชน จิตอาสา แกนนำ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบล พยาบาลวิชาชีพ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระยะเวลาดำเนินการวิจัยระหว่าง กรกฎาคม 2557-มีนาคม 2558 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมประกอบด้วย แนวคำถามทุนทางสังคม แนวคำถามการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์เนื้อหาและจัดหมวดหมู่
ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนมีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการดูแลสุขภาพบนฐานของทุนทางสังคมและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีการพัฒนาการจัดการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงภายใต้การดำเนินงาน"อาสาปันสุข" ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือมีแกนนำจิตอาสาที่มีความพร้อมและมีความเสียสละ ทำให้ "อาสาปันสุข" มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เกิดการเรียนรู้ให้กับคนภายในชุมชนและนอกพื้นที่ ดังนั้น นวัตกรรมการดูแลสุขภาพชุมชน "อาสาปันสุข" แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ด้วยการแบ่งปันและเอื้ออาทร
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว