ความชุกของภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

Authors

  • พัชราวรรณ แก้วกันทะ
  • สมพร รุ่งเรืองกลกิจ

Abstract

          ปัจจุบันภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาระดับอุดมศึกษามีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้า การรับรู้ต่อปัญหาและรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

          วิธีการวิจัย กลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1-4 อายุ 18-22 ปี เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย แบบประเมินซึมเศร้า (CES-D) แบบสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ต่อปัญหา และแบบสอบถามเกี่ยวกับรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาของนักศึกษา แบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาได้เท่ากับ 0.92 โครงการวิจัยได้รับความเห็นชอบด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และผู้วิจัยคำนึงถึงการพิทักษ์สิทธิกลุ่มตัวอย่างทุกขั้นตอนของการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจง ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและไคสแควร์

          ผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 31.9 เป็นชาย ร้อยละ 30.9 หญิง ร้อยละ 32.3 คณะที่มีภาวะซึมเศร้ามากที่สุด คือ คณะพยาบาลศาสตร์ ร้อยละ 36.1 โดยจำนวนนักศึกษาที่มีการรับรู้ต่อปัญหาของนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้าและไม่มีภาวะซึมเศร้า 5 ลำดับแรกใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันตรง ลำดับของปัญหาพบว่าร้อยละของจำนวนนักศึกษาที่มีการรับรู้ต่อปัญหาในกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้ามีมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05นักศึกษาชายและหญิงที่มีภาวะซึมเศร้ามีการรับรู้ต่อปัญหาใน 5 ลำดับแรกใกล้เคียงกัน ต่างกันตรงลำดับของปัญหาพบว่าร้อยละของจำนวนนักศึกษาที่มีการรับรู้ต่อปัญหาในกลุ่มนักศึกษาชายมีมากกว่ากลุ่มนักศึกษาหญิงทั้งกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าและไม่มีภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

         ส่วนจำนวนนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้าและไม่มีภาวะซึมเศร้าที่ใช้รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาใน 5 ลำดับแรกใกล้เคียงกัน ต่างกันตรงลำดับของรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหา และเมื่อพิจารณาความแตกต่างของรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาในนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้าและนักศึกษาที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า พบว่า ร้อยละของจำนวนนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้าที่ใช้รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหามีมากกว่าจำนวนร้อยละของจำนวนนักศึกษาที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 นักศึกษาชายและหญิงที่มีภาวะซึมเศร้ามี รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาของ 5 ลำดับแรกใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันตรงลำดับของรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อพิจารณาความแตกต่างของรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาของนักศึกษาชายและนักศึกษาหญิงที่มีภาวะซึมเศร้า พบว่า จำนวนนักศึกษาชายและหญิงที่ใช้รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

         สรุป จากผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจำนวนนักศึกษาในกลุ่มที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า จะมีการรับรู้ต่อการมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า แต่กลุ่มที่ไม่มีภาวะซึมเศร้ามีรูปแบบของการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมมากกว่า และในกลุ่มนักศึกษาชายที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีการใช้รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสมมากกว่านักศึกษาหญิงซึ่งรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสมนี้อาจเป็นโอกาสเสี่ยงที่นักศึกษาชายจะมีปัญหาด้านอื่นตามมา ดังนั้นสถาบันการศึกษาควรจัดให้มีกิจกรรมเสริมทักษะเรื่องการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน เพื่อที่จะได้เป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีเมื่อเพื่อนมาขอรับคำปรึกษาและนักศึกษาสามารถหาแหล่งสนับสนุนในการช่วยเพื่อนที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะได้ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า

Downloads

Published

2015-12-31

How to Cite

แก้วกันทะ พ., & รุ่งเรืองกลกิจ ส. (2015). ความชุกของภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย. Nursing Journal CMU, 42(4), 48–64. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/53260