ปัจจัยทำนายพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในโรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้งจังหวัดเชียงราย

Authors

  • จุฑามาศ ชื่นชม
  • ตุลนาฒ ทวนธง
  • ภุชงค์ ชื่นชม
  • ลาวัลย์ สมบูรณ์
  • อ้อฤทัย ธนะคำมา

Keywords:

ปัจจัยทำนาย, พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

Abstract

          ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะต้องดำเนินชีวิตอยู่กับโรคและความเจ็บป่วยตลอดชีวิต ทำให้ต้องกลับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับของพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพและอำนาจการทำนายของการรับรู้ประโยชน์ของพฤติกรรม การรับรู้อุปสรรคต่อพฤติกรรม การรับรู้ความสามารถของตนเอง ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม อิทธิพลระหว่างบุคคลและอิทธิพลด้านสถานการณ์ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้ง  จังหวัดเชียงราย เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจำนวน 157 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ การรับรู้ประโยชน์ของพฤติกรรม การรับรู้อุปสรรคต่อพฤติกรรม การรับรู้ความสามารถของตนเอง     ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม อิทธิพลระหว่างบุคคลและอิทธิพลด้านสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของจิตรา จันชนะกิจ  (2541)   ทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาคได้ค่าเท่ากับ 0.80 และ 0.87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

          ผลการวิจัย พบว่า

          1. กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับดีเมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านการออกกำลังกาย ด้านการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพด้านสัมพันธภาพดับบุคคลอื่นและด้านโภชนาการอยู่ในระดับดี ส่วนด้านการจัดการความเครียดอยู่ในระดับพอใช้

          2.กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้อุปสรรคต่อพฤติกรรม อิทธิพลด้านสถานการณ์ การรับรู้ความสามารถของตนเอง การรับรู้ประโยชน์ของพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก ส่วนอิทธิพลระหว่างบุคคลและความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมอยู่ในระดับน้อย

          3.การรับรู้ประโยชน์ของพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ อิทธิพลระหว่างบุคคล การรับรู้ความสามารถของตนเองและอิทธิพลด้านสถานการณ์ สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพได้ร้อยละ 36(p<0.001)      

          ผลการวิจัยครั้งนี้จะสามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนจัดกิจกรรมการพยาบาลหรือพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

Downloads

Published

2015-12-31

How to Cite

ชื่นชม จ., ทวนธง ต., ชื่นชม ภ., สมบูรณ์ ล., & ธนะคำมา อ. (2015). ปัจจัยทำนายพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในโรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้งจังหวัดเชียงราย. Nursing Journal CMU, 42(4), 86–97. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/53263