พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวของสตรีอาข่า

Authors

  • สุสัณหา ยิ้มแย้ม
  • รังสิยา นารินทร์

Keywords:

พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ, ความรุนแรงในครอบครัว, สตรีอาข่า

Abstract

          ปัจจุบันนี้สตรีอาข่าซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในไทยที่ได้อพยพมาหารายได้ในเมือง ส่วนใหญ่มีการทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ โดยเฉพาะงานรับจ้างทั่วไป งานบ้าน งานเสริฟในร้านอาหาร หรืองานเร่ขายของตามแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งชุมชน สภาพการทำงานเหล่านี้เอื้อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวของสตรีอาข่า  ข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้างสตรีชาวอาข่า 118 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และ ทดลองใช้กับสตรีอาข่าที่อยู่ในเมือง จำนวน 5 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการทดสอบไคสแคว์

           ผลการวิจัยพบว่า  สตรีอาข่าจำนวนมากมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ  ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยโดยต่ำกว่า 20 ปี (63.9%) การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (19.1%) เกือบครึ่งหนึ่งเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจ (42.5%)การขาดการสื่อสารและการต่อรองทางเพศโดยไม่เคยคุยกับสามี/คู่รักถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(45.7%) ไม่เคยบอกถึงความต้องการทางเพศ (45.7%) ไม่สามารถปฎิเสธได้เมื่อไม่ต้องการ (9.6%) การไม่ใช้วิธีป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (81.1%) เพราะไว้ใจสามี (83.5%) และเห็นว่าการใช้ถุงยางอนามัยไม่เหมาะสมสำหรับสามีภรรยา(41.5%) สตรีอาข่าประมาณหนึ่งในหก (15.3%)ที่เปิดเผยว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างน้อยด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง สำหรับสตรีอาข่าที่มีสามีหรือคู่รักแล้วมีสัมพันธภาพไม่ดีกับสามีหรือคู่รัก (48.3%) และเคยถูกคู่รักหรือคู่ครองทำร้ายร่างกาย (8.1%)

          ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดโปรแกรมในการเสริมพลังอำนาจสตรีอาข่าในการต่อรองเพื่อความเสมอภาคทางเพศ ทั้งนี้ควรนำบุรุษอาข่ามีส่วนร่วมในการผลักดันในประเด็นนี้ด้วยเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวต่อไป

Downloads

Published

2015-12-31

How to Cite

ยิ้มแย้ม ส., & นารินทร์ ร. (2015). พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวของสตรีอาข่า. Nursing Journal CMU, 42(4), 146–155. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/53300