การให้ความรู้ต่อการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในมารดาวัยรุ่น: การทบทวนอย่างเป็นระบบ
Keywords:
การให้ความรู้, การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา, มารดาวัยรุ่น, การทบทวนอย่างเป็นระบบAbstract
น้ำนมมารดามีสารอาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับทารก และให้ภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในมารดาวัยรุ่นยังมีอัตราที่ต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงบุตรด้วย นมมารดาคือ การขาดความรู้ ด้วยเหตุนี้จึงมีงานวิจัยที่หลากหลายเกี่ยวกับการให้ความรู้ในมารดาวัยรุ่นเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา การทบทวนอย่างเป็นระบบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในมารดาวัยรุ่นมีผลลัพธ์คือความรู้ในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา ระยะเวลาในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา อัตราการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา และพฤติกรรมในการ เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา จากการสืบค้นงานวิจัยระดับปฐมภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึงปี พ.ศ. 2557 โดยใช้ แนวทางการทบทวนอย่างเป็นระบบของสถาบันโจแอนนาบริกส์ (JBI, 2014) พบงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการให้ความรู้ในมารดาวัยรุ่น ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 13 เรื่อง แบ่งเป็นงานวิจัย ทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม จำนวน 4 เรื่อง งานวิจัยแบบกึ่งทดลอง จำนวน 9 เรื่อง แต่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เมต้าได้เนื่องจากความแตกต่างของวิธีการให้ความรู้และการวัดผลลัพธ์ ดังนั้นการทบทวนอย่างเป็นระบบในครั้งนี้จึงใช้วิธีการสรุปแบบบรรยายเชิงเนื้อหา
ผลของการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิผลของการให้ความรู้ขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลักคือ รูปแบบการให้ความรู้ ช่วงเวลาในการให้ความรู้ และผู้ให้ความรู้ สำหรับรูปแบบการให้ความรู้พบว่าการให้ทั้งรายบุคคล และรายกลุ่ม อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา ในส่วนของช่วงเวลาพบว่าการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด จนถึง ระยะหลังคลอด อาจจะมีผลเพิ่มความรู้ เพิ่มระยะเวลา ในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพิ่มอัตราการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา และมีผลต่อพฤติกรรมในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาสำหรับผู้ให้ความรู้พบว่าบุคลากรทางวิชาชีพมีความสำคัญต่อการให้ความรู้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าผู้ให้ความรู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางวิชาชีพอาจจะสามารถเพิ่มระดับความรู้ในมารดาวัยรุ่นแต่ต้องได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดและปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของบุคลากรทางวิชาชีพ
จากผลการทบทวนอย่างเป็นระบบครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อแนะนำว่า วิธีการให้ความรู้อาจให้ได้ทั้งรายบุคคล หรือรายกลุ่ม โดยให้ความรู้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ระยะคลอด จนถึงระยะหลังคลอดโดยบุคลากรทางวิชาชีพสำหรับด้านการวิจัยควรมีการวิจัยปฐมภูมิเพิ่มเติมในเรื่องประสิทธิผลของการให้ความรู้ในมารดาวัยรุ่นโดยใช้วิธีการและการประเมินผลลัพธ์แบบเดียวกัน
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว