ความรุนแรงของโรคหืด พฤติกรรมการจัดการของครอบครัวและการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็กของผู้ดูแลในครอบครัว
Keywords:
ความรุนแรงของโรคหืด, พฤติกรรมการจัดการของครอบครัว, การควบคุมอาการของโรคหืด, เด็กป่วยโรคหืดAbstract
โรคหืดในเด็กเป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวอย่างมากการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ เพื่อศึกษาความรุนแรงของโรคหืด พฤติกรรมการจัดการของครอบครัวและการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็กของผู้ดูแลในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคหืดกับพฤติกรรมการจัดการของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการจัดการของครอบครัวกับการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็ก กลุ่มตัวอย่าง คือ บิดา มารดาหรือผู้ดูแลในครอบครัวเด็กป่วยโรคหืดที่มีอายุช่วง 1 เดือน ถึง 6 ปี ที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลลำปาง โดยการ
คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 85 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความรุนแรงของโรคหืดในเด็ก แบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการของครอบครัว และแบบสอบถามการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็ก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษาโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและสเปียร์แมน
ผลการวิจัยพบว่า
1. เด็กป่วยโรคหืดมีความรุนแรงของโรคหืดอยู่ในระดับรุนแรงน้อย ร้อยละ 89.4 พฤติกรรมการจัดการของครอบครัว พบว่าผู้ดูแลในครอบครัวมีพฤติกรรมการจัดการดูแลเด็กป่วยโรคหืดระดับสูง ร้อยละ 97.6 และการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็ก พบว่าเด็กป่วยโรคหืดควบคุมอาการของโรคได้ ร้อยละ 49.4 และควบคุมอาการของโรคได้บางส่วน ร้อยละ 36.5
2. ความรุนแรงของโรคหืดในเด็กมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมการจัดการของครอบครัวเด็กป่วยโรคหืดโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.412, p<.01)
3. พฤติกรรมการจัดการของครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .319, p<.01)
ผลการวิจัยครั้งนี้ช่วยให้พยาบาลมีความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคหืด พฤติกรรมการจัดการของครอบครัวและการควบคุมอาการของโรคหืดในเด็ก และใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการดูแลเด็กป่วยโรคหืดให้ดียิ่งขึ้น
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว