ผลของโปรแกรมการสอนต่อความรู้ และสมรรถนะแห่งตนของพยาบาลในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัด
Keywords:
อาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัด, เด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว, ความรู้ของพยาบาล, สมรรถนะแห่งตนของพยาบาลAbstract
อาการอ่อนเปลี้ยเป็นอาการข้างเคียงของเคมีบำบัดที่พบได้บ่อยในเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และ ส่งผลกระทบต่อเด็กป่วยทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจอารมณ์อย่างมาก พยาบาลที่ให้การดูแลเด็กป่วยมะเร็งจึงควรมีความรู้และความมั่นใจในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัด การวิจัยกึ่งทดลองแบบหนึ่งกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้ และสมรรถนะแห่งตนของพยาบาลในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัดก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการสอน โดยใช้ทฤษฎีการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ของโนลส์ (Knowles, 1980) และทฤษฎีสมรรถนะแห่งตนของแบนดูรา (Bandura, 1997) เป็นกรอบทฤษฎีในการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลที่ปฏิบัติการดูแลเด็กป่วยโรคมะเร็ง
ที่ได้รับเคมีบำบัด ในหอผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ จำนวน 14 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความรู้เกี่ยวกับอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัดในเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และแบบสอบถามสมรรถนะแห่งตนในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัด วิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยความรู้และสมรรถนะแห่งตนของพยาบาลในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัดก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการสอนโดยใช้สถิติทดสอบค่าที(paired t-test)
ผลการวิจัยพบว่าความรู้และสมรรถนะแห่งตนของพยาบาลในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัดหลังได้รับโปรแกรมการสอนสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(t =10.348, p<.001; t =8.706, p<.001) ตามลำดับ
ผลการวิจัยนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการเตรียมพยาบาลในการดูแลเด็กป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอาการอ่อนเปลี้ยจากเคมีบำบัดโดยการให้ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแห่งตน
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว