ผลของการออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้ต่อความเหนื่อยล้า และความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายใน ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
Keywords:
ความเหนื่อยล้า, ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย, การออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้, โรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมAbstract
ความเหนื่อยล้าและการลดลงของความสามารถในการททำหน้าที่ของร่างกายของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย การออกกำลังกายจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้ การออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้จึงอาจจะมีประโยชน์ในประชากรกลุ่มนี้ การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้ต่อความเหนื่อยล้าและความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ณ หน่วยไตเทียมโรงพยาบาลค่ายกาวิละและ โรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนเมษายน 2557 จำนวน 34 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงโดยจับฉลากตามวันที่มารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 17 ราย โดยกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติและกลุ่มทดลอง ออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) วิดิทัศน์และคู่มือการออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้ 2) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 3) แบบประเมินการรับรู้ความเหนื่อยของบอร์ก 4) แบบประเมินความเหนื่อยล้าของไปเปอร์และคณะฉบับปรับปรุง (Piper et al., 1998) ซึ่งดัดแปลงและแปลโดย ปฤษณภานุรังษี(2000) และ 5) แบบบันทึกระยะทางที่สามารถเดินบน พื้นราบได้ในเวลา 6 นาทีวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที
ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยความเหนื่อยล้าในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหลังการออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < .001) และน้อยกว่าก่อนการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < .001) ค่าเฉลี่ยความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหลังการออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < .001) และมากกว่าก่อนการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < .001)
ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิคกับเก้าอี้สามารถช่วยลดความเหนื่อยล้า และเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จึงเสนอแนะให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายในประชากรกลุ่มดังกล่าว
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว