การพัฒนาระบบการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มสำหรับผู้ป่วยใน
Keywords:
ปัจจัยเสี่ยง, ระบบการให้คะแนน, การติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่ม, ผู้ป่วยในการพัฒนาAbstract
การติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การคัดกรองผู้ป่วยจะช่วยให้สามารถดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล การวิจัยเชิงพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิภาพของระบบการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มสำหรับผู้ป่วยใน การวิจัยดำเนินการ 2 ระยะ คือ ระยะการพัฒนาและระยะทดสอบประสิทธิภาพของระบบการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยระยะการพัฒนา คือ เวชระเบียนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 แบ่งเป็นเวชระเบียนของ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา (n=151) และไม่ติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่ม (n=302) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยระยะทดสอบ คือ เวชระเบียนของผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษา ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 แบ่งเป็นเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง (n=171) และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่ม (n= 342) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลการติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มในโรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติแมนวิทนีย์ยู สถิติถดถอย โลจิสติก และหาค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายเชิงบวก และการทำนายเชิงลบ
ผลการวิจัยพบว่า ระบบการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มสำหรับผู้ป่วยใน กำหนดขึ้นในรูปแบบของการให้คะแนนในแต่ละปัจจัยเสี่ยง ดังนี้การมีประวัติเคยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล (15 คะแนน) การได้รับการสอดใส่ท่อหรือสายสวนเข้าสู่ร่างกาย (10 คะแนน) การมีแผลเรื้อรังหรือแผลติดเชื้อ (4 คะแนน) การมีประวัติการรักษาที่ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายต่ำภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา (3 คะแนน) การได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (2 คะแนน) การมีประวัติเคยรักษาด้วยยาต้านจุลชีพภายใน
3 เดือนที่ผ่านมา (2 คะแนน) เพศชาย (2 คะแนน) การเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (2 คะแนน) และอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี (2 คะแนน) คะแนนรวมเท่ากับ 42 คะแนน ระบบการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยงนี้มีความถูกต้องในการทำนายการติดเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มในโรงพยาบาลได้ร้อยละ 96.4 เมื่อกำหนดจุดตัดที่ 15 คะแนน มีค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายเชิงบวก และการทำนายเชิงลบ คิดเป็นร้อยละ 82.2 95.7 91.8 และ 90.1 ตามลำดับ
การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่า โรงพยาบาลอาจพิจารณานำเอาระบบการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยงที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัยนี้ ไปใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถแยกผู้ป่วยและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาหลายกลุ่มในโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว