ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์ ของพยาบาลในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

Authors

  • สุชาดา พาณิชกระจ่าง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • บุญพิชชา จิตต์ภักดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เพชรสุนีย์ ทั้งเจริญกุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ปัจจัยภายในบุคคล, ปัจจัยภายนอกบุคคล, ความสามารถในการสร้างสรรค์, พยาบาล, โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย

Abstract

     ความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของการบริการพยาบาล การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลจะช่วยให้ผู้บริหารการพยาบาลสามารถบริหารจัดการองค์การพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อหาความสัมพันธ์ครั้งนี้คือ เพื่อศึกษาระดับความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาล และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือของประเทศไทย จำนวน 368 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาล ที่สุชาดา พาณิชกระจ่าง บุญพิชชา จิตต์ภักดี และเพชรสุนีย์ ทั้งเจริญกุล ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นตามแนวคิดของกิลฟอร์ด (Guilford, 1967) และการทบทวนวรรณกรรม และ 2) แบบสอบถามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลที่สุชาดา พาณิชกระจ่าง บุญพิชชา จิตต์ภักดี และเพชรสุนีย์ ทั้งเจริญกุล ได้ร่วมกันสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน
     ผลการวิจัยพบว่า
1. ความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่าความสามารถในการสร้างสรรค์ด้านความคิดคล่องแคล่วและความคิดละเอียดลอออยู่ในระดับสูง ส่วนด้านความคิดริเริ่มและความคิดยืดหยุ่น อยู่ในระดับปานกลาง
2. ปัจจัยภายในบุคคล ได้แก่ อายุและประสบการณ์ในการทำงาน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ปัจจัยภายนอกบุคคล ได้แก่ ความมีอิสระในการทำงาน ความท้าทายของงาน การมีทรัพยากรที่เพียงพอ การสนับสนุนจากองค์การ การสนับสนุนจากกลุ่มผู้ร่วมงาน และความกดดันจากภาระงาน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการสร้างสรรค์ของพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

     ผลการศึกษาครั้งนี้ผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้พยาบาลในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีความสามารถในการสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลและผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์การ

Downloads

Published

2016-09-30

How to Cite

พาณิชกระจ่าง ส., จิตต์ภักดี บ., & ทั้งเจริญกุล เ. (2016). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์ ของพยาบาลในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย. Nursing Journal CMU, 43(3), 90–101. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/75219