ปัจจัยทำนายความกลัวการคลอดบุตรในสตรีหลังคลอด

Authors

  • พัชรเวทย์ เผยกลาง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา
  • สุกัญญา ปริสัญญกุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • นันทพร แสนศิริพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ปัจจัยทำนาย, ความกลัวการคลอดบุตร, สตรีหลังคลอด

Abstract

     ความกลัวการคลอดบุตรในสตรีหลังคลอดพบได้บ่อย สตรีที่มีประสบการณ์ความกลัวการคลอดบุตรจะหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ และการคลอดทางช่องคลอดในครรภ์ต่อไป การวิจัยหาความสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความกลัวการคลอดบุตร และปัจจัยทำนายความกลัวการคลอดบุตรในสตรีหลังคลอด กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีที่คลอดปกติ 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด จำนวน 150 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างตามสะดวก
ที่แผนกหลังคลอด โรงพยาบาลบ้านเหลื่อม โรงพยาบาลคง และโรงพยาบาลแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเดือน พฤษภาคม- กันยายน 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความกลัวการคลอดบุตร แบบบีของวิจมา วิจมา และซาร์ (Wijma, Wijma, & Zar, 1998) แปลเป็นภาษาไทยโดย นันทพร แสนศิริพันธ์ (2556) แบบวัดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของ โรเซนเบอร์ก (Rosenberg, 1965) ดัดแปลงโดย จิราวรรณ นิรมิตภาษ (2551) แบบสอบถามการสนับสนุนของพยาบาลในระยะคลอด ของ แบรนตัน ฟราเซอ- ดาเว และซุลลิแวน (Bryanton, Fraser-Davey, & Sullivan, 1994) แปลเป็นภาษาไทยโดย ฉวีเบาทรวง และกรรณิการ์ กันธะรักษา (2555) และแบบวัดความเจ็บปวดในการคลอดชนิดที่เป็นตัวเลข (numeric pain rating scale) ของเมลแซค และคอส (Melzack & Kauz, 1999) ทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือโดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อัลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ .81, .82 และ .97 ตามลำดับ ทำการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
     ผลการวิจัยพบว่า
     1. กลุ่มตัวอย่างมีความกลัวการคลอดบุตร อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 43.3 คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 61.65 (S.D. = 22.17)
     2. กลุ่มตัวอย่างมีความเจ็บปวดในการคลอดอยู่ในระดับรุนแรงร้อยละ 74.7 คะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 8.49 (S.D. = 1.92)
     3. กลุ่มตัวอย่างรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับสูงร้อยละ 70.6 คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.16 (S.D. = 0.48)
     4. กลุ่มตัวอย่างได้รับการสนับสนุนจากพยาบาลในระยะคลอดอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 54 คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 89.07 (SD = 15.02)

     5. ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ประสบการณ์การคลอด จำนวนครั้งของการคลอด สามารถร่วมกันทำนายความกลัวการคลอดบุตรในสตรีหลังคลอดได้ร้อยละ 32.4 (p < .05)

     ผลงานศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าควรมีการประเมินความกลัวการคลอดบุตรในสตรีหลังคลอด พยาบาลผดุงครรภ์ควรมีการวางแผนการดูแลเพื่อลดความกลัวการคลอดบุตร ส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และประสบการณ์การคลอดทางบวก

Downloads

Published

2016-12-31

How to Cite

เผยกลาง พ., ปริสัญญกุล ส., & แสนศิริพันธ์ น. (2016). ปัจจัยทำนายความกลัวการคลอดบุตรในสตรีหลังคลอด. Nursing Journal CMU, 43(4), 44–54. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/77521